วัดหลวงพ่อโสธร วัดศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแปดริ้ว ศูนย์รวมใจของชาวพุทธ

วัดหลวงพ่อโสธร พระอารามหลวงที่สำคัญในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง ซึ่งหากจะพูดถึง พระอารามหลวงที่มีความสำคัญในภาคตะวันออก  หนึ่งในนั้นจะต้องนึกถึง วัดหลวงพ่อโสธร หรือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร

โดย วัดหลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา เป็นวัดซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธากันอย่างมากของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง

วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับพระอารามหลวงที่มีความสำคัญอย่างมากแห่งนี้กัน โดยวัดนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างมาก

อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีความสวยงามทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอย่างสูงที่หากใครมีโอกาสก็ควรไปเยือนกันให้ได้สักครั้ง

นิพพานกิฟ ของชำร่วย ร้านของชำร่วยออนไลน์ สเปรย์ แอลกอฮอล์ ของชําร่วย จัดส่งทั่วไทย ส่งไว ส่งด่วน snack box งานศพ ราคาถูก คุ้มค่า

 

ประวัติ วัดหลวงพ่อโสธร

ประวัติความเป็นมาของวัดหลวงพ่อโสธร – วัดหลวงพ่อโสธร หรือ  วัดโสธรวรารามวรวิหาร  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

ซึ่งที่ตั้งของวัดนั้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ทำให้มีเรื่องเล่าถึงที่มาของพระพุทธรูปในวัดที่ลอยมาตามน้ำ ซึ่งจะขยายความเรื่องนี้ให้ทราบในเนื้อหาถัดไป

 

วัดหลวงพ่อโสธร เดิมมีชื่อว่า  วัดหงส์ 

 

กล่าวกันว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยช่างฝีมือชาวมอญ

ซึ่งเหตุที่มีการเรียกกันว่าวัดหงส์นั้น เนื่องจากแต่เดิมวัดมีเสาสูงที่ปลายเสาเป็นรูปหงส์ตั้งอยู่ที่เป็นจุดสังเกต ทำให้ชาวบ้านเรียกชื่อวัดตามเสาหงส์ดังกล่าว

แต่ต่อมาเสาหงส์นี้ก็ได้ถูกลมพายุใหญ่พัดเอาหงส์ที่อยู่บนยอดหักลงมา ชาวบ้านจึงนำผ้าขึ้นไปผูกไว้ที่บริเวณยอดของเสาธงแทน จึงมีชื่อเรียกวัดนี้ในเวลาต่อมาว่า  วัดเสาธง  แทน วัดหงส์

และเมื่อเวลาผ่านไปลมพายุก็ยังพัดเอาเสาธงดังกล่าวหักลงมาอีกครั้งเป็นสองท่อน วัดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วัดเสาธงทอน 

วัดหลวงพ่อโสธร
วัดหลวงพ่อโสธร

 

ในกาลต่อมาได้มีเรื่องเล่าปรากฎว่ามีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ 3 พี่น้องลอยมาจากแม่น้ำปิง ผ่านคลองพระโขนงก่อนที่จะลอยออกสู่แม่น้ำบางปะกง ชาวบ้านที่พบเห็นพระลอยน้ำต่างพากันช่วยกันชักพระขึ้นมาจากน้ำแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งภายหลังจึงได้มีการขนานนามคลองแห่งนั้นว่า คลองชักพระ

พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ได้ลอยทวนน้ำต่อไปยังวัดสัมปทวนในปัจจุบัน ซึ่งชื่อวัดดังกล่าวมาจากการที่ชาวบ้านพบเห็นองค์พระลอยมาตามน้ำจึงพยายามนำเชือกไปผูกองค์พระเอาไว้ เพื่อที่จะชักพระขึ้นมาจากน้ำอีกครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ วัดนี้จึงมีชื่อเรียกกันว่า สามพระทวน ที่เพี้ยนมาเป็นชื่อวัดสัมปทวนในปัจจุบัน

เมื่อไม่สามารถชักพระขึ้นจากน้ำได้เป็นผลสำเร็จในครั้งที่สอง พระพุทะรูปจึงลอยตามน้ำไปให้ชาวบ้านพบเห็นที่หน้าวัดโสธร และลอยทวนน้ำอยู่บริเวณนั้น

จนกระทั่งพระพุทธรูปองค์ใหญ่สุดได้ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลองและผุดขึ้นที่บริเวณบ้านแหลม สมุทรสงคราม ซึ่งชาวบ้านได้พากันชักจูงพระขึ้นจากน้ำได้เป็นผลสำเร็จ จึงได้อัญเชิญไว้ประดิษฐานที่วัดที่มีชื่อเรียกกันต่อมาว่าหลวงพ่อบ้านแหลม

ส่วนองค์น้องเล็กสุดได้ลอยไปผุดที่คลองใกล้วัดบางพลี สมุทรปราการ ชาวบ้านที่นั่นจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดและมีชื่อเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อโตบางพลี

ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางได้ลอยตามน้ำต่อไปและมาผุดขึ้นที่บริเวณวัดหงส์เดิม ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเชือกไปผูกไว้ที่องค์พระเพื่อชักลากองค์พระขึ้นมาจากน้ำ แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีผู้รู้คนหนึ่งมาแนะนำว่าตั้งศาลเพียงตาขึ้นมาเพื่อทำพิธีบวงสรวงก่อนจากนั้นค่อยนำสายสิญจน์ไปผูกไว้ที่ข้อมือเพื่อเชิญองค์พระขึ้นมาจากน้ำแทนการใช้เชือก ซึ่งในที่สุดก็สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำมาได้เป็นผลสำเร็จ

วันที่อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำขึ้นมาประดิษฐานที่อุโบสถของวัดตรงกับวัน ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ในปี พ.ศ. 2313 ตรงกับช่วงต้นของกรุงธนบุรี จากนั้นชาวบ้านก็พากันถวายนามให้กับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระโสทร ที่มีความหมายรวมถึงพี่น้องร่วมอุทรซึ่งหมายรวมถึงพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ลอยตามน้ำมาด้วยกันนั่นเอง

ซึ่งในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อใหม่จากคำว่า โสทร เป็นโสธร ที่มีความหมายว่าบริสุทธิ์หรือศักดิ์สิทธิ์ และเขียนชื่อตามนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในยุคก่อนที่จะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโสธรมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้นั้น ที่ตั้งของวัดเป็นที่ที่อยู่ค่อนข้างห่างไกลชุมชน การเดินทางมาวัดทำได้ยากเนื่องจากทางเดินเป็นป่ารกเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการอัญเชิญหลวงพ่อโสธรมาประดิษฐานที่วัดแล้ว ก็มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมากราบไหว้สักการะหลวงพ่อผ่านทางเรือที่มีความสะดวกสบายกว่ามาก

 

อีกทั้งยังมีเสียงเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรว่า ถ้าหากมีการขอพรจากหลวงพ่อให้ค้าขายดี เงินทองไหลมาเทมา ก็จะได้ผลตามที่ขอพรนั้นทุกประการอย่างน่าอัศจรรย์

 

ดังนั้นผู้คนที่มาสักการะหลวงพ่อจึงมีมากันอย่างไม่ขาด คนที่มาทางเรือก็วักน้ำที่แม่น้ำบริเวณท่าวัดขึ้นมาล้างหน้า ลูบหน้า ประพรมสินค้าในเรือ ประหนึ่งเป็นน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำมาหากินได้เป็นอย่างดี

ในส่วนขององค์พระนั้น เดิมหลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่หล่อด้วยสำริดที่มีความสวยงามมาก ทำให้พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อองค์พระ จึงได้มีการนำปูนมาพอกหุ้มองค์เดิมไว้เพื่อไม่ให้เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้มีจิตใจใฝ่ทางโลภ

 ดังนั้นในปัจจุบันนี้ องค์หลวงพ่อโสธรจึงเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่มีหน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้วหรือประมาณ 165 เซนติเมตร องค์พระมีความสูง 198 เซนติเมตร 

วัดหลวงพ่อโสธรนั้นเดิมเป็นวัดราษฎร์ ที่สร้างขึ้นในยุคกรุงศรีอยุธยาสมัยเดียวกับวัดหลวงพ่อบ้านแหลม สมุทรสงคราม จนกระทั่งถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ยกให้วัดหลวงพ่อโสธรขึ้นเป็นพระอารามหลวงและพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดโสธรวรารามวรวิหาร ดังที่รู้จักกันในปัจจุบัน

วัดหลวงพ่อโสธร ภาษาอังกฤษ, วัดโสธรวรารามวรวิหาร ภาษาอังกฤษ Wat Sothornwararam woravihan

 

การสร้างอุโบสถของวัดหลวงพ่อโสธร

วัดหลวงพ่อโสธรเป็นวัดที่มีการก่อสร้างมานานตั้งแต่สมัยโบราณ อุโบสถเดิมจึงเก่าแก่และชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังมีขนาดเล็กค่อนข้างคับแคบ

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2509 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดและได้มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิมนี้

ดังนั้น ทางหลวงพ่อเจียม เจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้นพร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและชาวเมืองจึงได้ทำการรวบรวมเงินบริจาคเพื่อทำการก่อสร้าง ซึ่งกล่าวได้ว่าการสร้างพระอุโบสถใหม่ของวัดหลวงพ่อโสธรสำเร็จได้ด้วยเงินบริจาคจากประชาชนที่มีความศรัทธาทั้งหมดโดยมิได้รบกวนงบประมาณของแผ่นดินมาใช้ในการก่อสร้างเลย

ทั้งนี้รัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็นองค์ประธานในการสร้างพร้อมกับทรงรับหน้าที่ในการดูแลงานสร้างพระอุโบสถใหม่นี้ด้วยซึ่งถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงยิ่ง

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ได้เสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในปี พ.ศ. 2531 ด้วยพระองค์เองในช่วงเวลาที่เริ่มก่อสร้างอีกด้วย

การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบวิศวกรรมสมัยใหม่ที่เป็นการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ครอบพระอุโบสถหลังเดิม

ซึ่งข้อจำกัดที่สำคัญและท้าทายอย่างยิ่งในการก่อสร้าง ก็คือ จะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธรพร้อมด้วยพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ที่อยู่รายล้อมแม้แต่นิดเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายแนวราบหรือยกขึ้นจากพื้นก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ก็ทำการก่อสร้างสำเร็จไปได้ด้วยดี

พระอุโบสถหลังใหม่นี้เป็นศิลปะแบบไทยประยุกต์และร่วมสมัย ผนังภายนอกปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี ตัวพระอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารที่มีหลังคาแบบจตุรมุขอย่างปราสาทไทย มีความกว้าง 45.5 เมตร ยาว 123.5 เมตร มีการประกอบเครื่องยอดชนิดยอดมณฑปทรงไทย

ตัวอาคารมีการเชื่อมต่อกันด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บริเวณตรงกลางเป็นยอดมณฑปสูง 85 เมตร เป็นรูปฉัตร 5ชั้นที่มียอดที่ทำด้วยทองคำ 77 กิโลกรัม ที่ทำให้มีความสวยงามและโดดเด่นอย่างมาก โดยยอดมณฑปทองคำนี้ รัชกาลที่ 9 ก็ได้เสด็จมาประกอบพิธียกยอดฉัตรด้วยพระองค์เองอีกเช่นเดียวกันในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539

นอกเหนือจากงานก่อสร้างภายนอกที่มีความสวยงามวิจิตรบรรจงอย่างมากแล้ว ภายในพระอุโบสถเองก็มีความงดงามยิ่งไม่แพ้กัน โดยมีการตกแต่งผนังภายในด้วยภาพเขียนจิตกรรมที่นำโดยศิลปินแห่งชาติคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ

ที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรมด้วยเทคนิคภาพเขียนสีน้ำมันที่เป็นภาพดวงดาวซึ่งตรงกับวันและเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมายกยอดฉัตรอุโบสถวัดหลวงพ่อโสธรแห่งนี้ ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539

ส่วนผนังโดยรอบก็มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวของดินแดนทิพย์แห่งสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก และดวงดาว ที่มีความสวยงามอย่างมาก

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรแห่งวัดโสธรวรารามวรวิหาร

หลวงพ่อโสธรเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากทั้งชาวจังหวัดฉะเชิงเทราและทั่วประเทศ โดยชื่อเสียงที่ร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรนั้น ทำให้มีผู้เดินทางมากราบขอพรที่วัดเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

ไม่รวมถึงการเดินทางมาร่วมงานประจำปีของวัดหลวงพ่อโสธรที่เป็นงานใหญ่ มีผู้มาร่วมงานกันจากทั่วประเทศเลยทีเดียว โดยผู้ที่ศรัทธาในองค์หลวงพ่อโสธรนอกจากจะเป็นชาวไทยแล้ว ก็ยังมีชาวต่างชาติอย่างสิงคโปร์, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง ที่ทราบข่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อต่างก็พากันเดินทางมาที่วัดเพื่อสักการะขอพรจากหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนไม่น้อย

ซึ่งเหตุผลที่คนจำนวนมากมีความศรัทธาในองค์หลวงพ่อโสธรนั้น ก็เนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ที่มีการร่ำลือมาตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณ

เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยก่อนที่ชาวบ้านประสบกับความทุกข์ยาก ฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง อีกทั้งยังมีโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาซ้ำเติมที่ทำให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายไปเป็นจำนวนมาก

ชาวบ้านจึงตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อโสธรให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากและขอให้หลวงพ่อคุ้มครองให้ปลอดภัยจากโรคร้าย

จากนั้นก็นำดอกไม้แห้งและขี้ธูปที่จุดถวายหลวงพ่อรวมทั้งหยดน้ำตาเทียนที่ใช้ทำน้ำมนต์เอาไปต้มกิน ปรากฎว่าโรคภัยที่เป็นอยู่นั้นหายเป็นปลิดทิ้ง

จากนั้นก็เริ่มมีเสียงร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อที่ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลกันมาที่วัดหลวงพ่อโสธรเพื่อขอพรให้หลวงพ่อช่วยเหลือกันเป็นจำนวนมาก และทำให้มีความนิยมในการขอเอาดอกไม้แห้ง, ขี้ธูปและหยดน้ำตาเทียนกลับไปทำยาเพื่อช่วยบรรเทาจากอาการเจ็บป่วย

นอกเหนือจากเรื่องของการขอความช่วยเหลือให้หายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต่างก็เชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธ์ของหลวงพ่อโสธรที่ช่วยในเรื่องของการค้าขาย มีการนำน้ำมนต์จากวัดไปประพรมสินค้า พร้อมกับขอพรจากหลวงพ่อขอให้การค้าขายเป็นไปด้วยดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้สมหวังในเรื่องนี้กันไม่น้อย

ในปัจจุบันนี้ผู้คนจำนวนมากพากันเดินทางมายังวัดหลวงพ่อโสธรเพื่อทำการบนขอพรทั้งในเรื่องของการทำมาค้าขาย, โชคลาภ และขอพรให้หายจากอาการเจ็บป่วย

โดยจะมีการแก้บนด้วยไข่ต้มและละครชาตรี รวมถึงการรำชุดพิเศษ อย่างเช่น รำฉุยฉาย ซึ่งทางวัดมีผู้ให้บริการของแก้บนดังกล่าวนี้ให้อย่างครบครัน ซึ่งใครที่ได้บนขอพรกับหลวงพ่อไว้แล้วต้องการมาแก้บนก็สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการของแก้บนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็นต้องเตรียมมาจากบ้านให้ยุ่งยาก

 

แม้ว่าหลวงพ่อโสธรจะมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบนขอพรเพื่อให้หลวงพ่อช่วยเหลือได้ แต่กล่าวกันว่ามีอยู่ด้วยกันสองเรื่องที่ห้ามบนขอกับหลวงพ่อ นั่นก็คือ บนไม่ให้ติดเกณฑ์ทหาร และบนขอลูก

 

เนื่องจากมีความเชื่อกันว่า หลวงพ่อชอบให้ลูกหลานเป็นทหาร ดังนั้นหากใครมาบนขอให้ไม่ติดเกณฑ์ทหารจึงไม่ได้ตามประสงค์อย่างแน่นอน

และการบนขอลูกที่หลวงพ่อจะส่งลูกหลานที่เคยเป็นทหารมาให้จึงทำให้ลูกที่เกิดมามีร่างกายไม่สมบูรณ์ นัยว่ามาจากการบาดเจ็บจากการเป็นทหารในชาติที่แล้วนั่นเอง

 

งานประจำปีวัดหลวงพ่อโสธร

เป็นงานสำคัญที่จัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง โดยมีกำหนดจัดงานตามวันที่ในปฏิทินจันทรคติ ที่จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ช่วงเวลาก็คือ

1. เดือน 5 จะมีการจัดงานเทศกาลประจำปีวัดหลวงพ่อโสธรเป็นเวลา 3 วัน คือ ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ จนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 5 เป็นงานที่จัดขึ้นเนื่องจากเป็นวันคล้ายกับวันที่อัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากน้ำมาประดิษฐานที่อุโบสถของวัด

2. เดือน 12 จะมีการจัดงานรวมทั้งหมด 5 วันตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำเดือน 12 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นโดยมีที่มาจากงานแก้บนในสมัยก่อน ที่ชาวบ้านได้ขอพรจากหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าโรคร้ายและขอให้พ้นจากภัยข้าวยากหมากแพง

ซึ่งเมื่อหายป่วยดังที่ขอพร และมีฝนตกโปรยปรายลงมาให้ความชุ่มชื้น ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงมีการจัดงานสมโภชน์ขึ้นที่วัดหลวงพ่อโสธรเพื่อเป็นการแก้บน และมีการยึดถือเอาตามเรื่องนี้มาจัดงานเป็นประเพณีสืบมา

3. เทศกาลตรุษจีน จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 จนถึงวันขึ้น 5 ค่ำเดือน 3

งานประจำปีของวัดหลวงพ่อโสธรเป็นงานใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันมาก แต่ละครั้งจะมีผู้เดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่สนใจจะมาร่วมงานควรวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อให้เดินทางมาร่วมงานได้อย่างราบรื่น

 

บทความที่น่าสนใจ:

ลอยอังคาร วัดหลวงพ่อโสธร

สวดอภิธรรม พิธีสวดพระอภิธรรมศพ ความเป็นมาและความสำคัญ

 

วัดหลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา เส้นทาง

การเดินทางมายังวัดหลวงพ่อโสธร – ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า วัดหลวงพ่อโสธรตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

ซึ่งการเดินทางมาที่วัดเพื่อกราบขอพรหลวงพ่อโสธรและชมความงามของพระอุโบสถที่มีความวิจิตรบรรจงด้วยงานศิลปะชั้นสูง สามารถทำได้หลายทางดังต่อไปนี้

 

เดินทางโดยรถยนต์

สามารถเดินทางไปยังวัดได้โดยใช้ 3 ช่องทางดังต่อไปนี้

เดินทางออกจากกรุงเทพโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเส้นทางกรุงเทพ มีนบุรี ฉะเชิงเทรา มีระยะทางในการเดินทาง 75 กิโลเมตร

เดินทางออกจากกรุงเทพโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ผ่านเส้นทางสมุทรปราการ บางปะกง จากนั้นเลี้ยวเข้าใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 314 มีระยะทางในการเดินทาง 100 กิโลเมตร

เดินทางออกจากกรุงเทพโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 34 ผ่านเส้นทางบางนาตราด จากนั้นเลี้ยวเข้าใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ผ่านเส้นทางบางปะกง ฉะเชิงเทรา มีระยะทางในการเดินทาง 90 กิโลเมตร

 

เดินทางโดยทางรถไฟ

โดยจะมีรถไฟออกจากหัวลำโพงมุ่งหน้าฉะเชิงเทราทุกวัน รอบแรกเริ่มตั้งแต่เวลา 5.55 น. จนถึงเที่ยวสุดท้ายเวลา 18.25 น. มีทั้งหมด 11 เที่ยวต่อวัน ลงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา จากนั้นต่อรถสองแถวประจำทางเพื่อเดินทางต่อไปยังวัดหลวงพ่อโสธร

 

รถตู้

มีรถตู้โดยสารที่จอดอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัย ฝั่ง century ที่มีปลายทางอยู่ที่หน้าวัดหลวงพ่อโสธรเลยทีเดียวโดยไม่ต้องต่อรถ

 

รถโดยสารประจำทาง

สามารถไปขึ้นรถเพื่อเดินทางไปยังฉะเชิงเทราได้ 2 แห่งคือ หมอชิตและเอกมัย ไปยังปลายทางสถานีขนส่งจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นก็ต่อรถสองแถวประจำทางเพื่อเดินทางต่อไปยังวัดหลวงพ่อโสธร

วัดหลวงพ่อโสธรเปิดให้เข้าเยี่ยมชมวัดและสักการะหลวงพ่อโสธร ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด วันธรรมดาเปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 7.00-16.30 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 7.00-17.00 น.

 

ทั้งหมดนี้เป็นประวัติ วัดหลวงพ่อโสธร ประวัติ และสิ่งที่น่ารู้ของวัดหลวงพ่อโสธรที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดฉะเชิงเทราและทั่วประเทศ เป็นพระอารามหลวงที่มีความสวยงามของศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีความร่วมสมัย ที่หากมีโอกาสควรมาเยือนเพื่อกราบนมัสการหลวงพ่อโสธรที่มีความศักดิ์สิทธิ์และชมพระอารามที่มีความสวยงามและสูงค่าด้วยงานศิลปะที่หาสิ่งใดมาเทียบเคียงได้ยาก

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

 
 
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
Product added!
The product is already in the wishlist!
Removed from Wishlist

The product has been added to your cart.

Continue shopping View Cart