ผ้าไตรจีวร การทำบุญด้วย ผ้าไตร หรือ ผ้าไตรจีวร นับเป็นการทำบุญที่สร้างกุศลให้กับผู้ที่ได้ถวายเป็นอย่างดียิ่ง
แต่รู้หรือไม่ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น พระสงฆ์มิได้ใช้ผ้าไตรเป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับพระสงฆ์
และความสำคัญของผ้าไตร คืออะไร
วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับผ้าไตรจีวรในพระพุทธศาสนา ให้มากขึ้นกันค่ะ
นิพพานกิฟ ของชำร่วย จำหน่ายของชำร่วย ราคาส่ง ราคาถูก Snack Box งานศพ อาหารว่างงานศพ ของชำร่วยงานศพ ของชําร่วยงานฌาปนกิจ
ยาวไป เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ
ผ้าไตรจีวร คือ
ผ้าไตร คือ – ผ้าไตรหรือผ้าไตรจีวร คือ ผ้าที่พระสงฆ์ใช้ในการนุ่งหรือครอง เพื่อปกปิดร่างกาย ซึ่งผ้าไตรนี้เป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีความสำคัญมากของพระสงฆ์ มีลักษณะเป็นผ้าเหลือง
พุทธศาสนิกชนมักเรียกติดปากว่า “ผ้าไตรจีวร” หรือ “ผ้าจีวร”
การที่เรียกว่า “ผ้าไตร” มาจาก ไตรที่แปลว่า “สาม” เพราะชุดผ้าไตรที่พระสงฆ์ใช้ประกอบด้วยผ้าจำนวน 3 ชิ้น คือ จีวร สบงและสังฆาฏิ
โดย ไตรจีวร เป็นปัจจัยพื้นฐานหรือบริขารของพระสงฆ์ที่มีความจำเป็น 1 ใน 8 อย่าง หรือที่เรียกว่า “อัฐบริขาร”
นอกจากนี้ “จีวร” ยังหมายถึง ผ้าห่มของพระสงฆ์ โดยจีวรที่มีความหมายว่าผ้าห่มอย่างเดียว มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อุตราสงค์”
ผ้าไตรจีวร ภาษาอังกฤษ, ผ้าไตร ภาษาอังกฤษ คือ set of Buddhist monk’s robes
the three robes of a Bhikkhu, consisting of the under, the upper, and the outer robes; Triple Robe.
the three clothes of a Buddhist monk – a robe, an extra robe, and a sarong
ประวัติความเป็นมาของผ้าไตรจีวร
สมัยครั้งพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนา และมีผู้เลื่อมใสเข้ามาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก
ในครั้งนั้นพระสงฆ์ไม่ได้รับอนุญาตให้รับการถวายผ้าเป็นผืนสำหรับมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่ให้ใช้ผ้าที่เก็บได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นเล็กหรือพื้นใหญ่ สกปรกหรือสะอาด นำมาเย็บต่อกันจนกลายเป็นผ้าที่สามารถนุ่งได้
ตามหลักฐานที่ปรากฏใน พระคัมภีร์อุปาลีเถราปทาน ได้กล่าวไว้ว่า “บุคคลเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่ (แม้) เปื้อนอุจจาระที่ถูกทิ้งไว้ตามถนนหนทาง ก็ควรประนมมือไหว้ผ้านั้น อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้า ด้วยเศียรเกล้า”
และด้วยเหตุนี้ทำให้จีวรในสมัยพุทธกาลถือเป็นสิ่งของหายาก และเกิดมีการลักขโมยจีวรเกิดขึ้น
เนื่องจากในสมัยพุทธกาลนั้น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มถือเป็นสิ่งหายาก การจะทอผ้าได้สักผืน ถือเป็นงานยากและต้องใช้เวลานาน
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ พระองค์ได้มีพระพุทธดำริให้พระสงฆ์สามารถตัดผ้าจีวรเป็นผ้าสี่เหลี่ยมขนาดเล็กนำมาต่อกัน
ทำให้ผ้าที่เย็บออกมามีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง เป็นผ้าที่เมื่อผู้อื่นเห็นแล้ว ไม่มีความต้องการนำผ้านี้ไปใช้อีก
ของที่ผู้อื่นไม่ต้องการถือเป็นของที่เหมาะสมกับสมณะเพศที่ละซึ่งกิเลศ เพราะไม่มีความโลภ ไม่มีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นของแบบใดก็สามารถใช้ได้
ซึ่งลายของผ้าที่นำผ้าขนาดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มารวมกัน เรียกลวดลายแบบนี้ว่า “ลายคันนา”
โดยในพระวินัยปิฎกได้ทำการบันทึกถึงที่มาของลายจีวรคันนาไว้ว่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่? …เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?”
พระอานนท์ตอบว่า “สามารถ พระพุทธเจ้าข้า”
ต่อมาเมื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับ ณ ทักขิณาคีรีชนบท ตามพระพุทธาภิรมย์ จนกระทั่งได้เสด็จกลับมายังพระนครราชคฤห์
พระอานน์ได้ทำการแต่งจีวรสำหรับพระภิกษุเป็นจำนวนหลายรูป ขึ้นเข้าเฝ้าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาค จงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ในครั้งนั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทำธรรมิกถา ซึ่งเป็นเหตุแรกที่เกิดขึ้น แล้วรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนั้นว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อ ได้โดยกว้างขวาง …จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ”
ซึ่งในกาลครั้งที่พระอานนท์ได้ถวายจีวรที่ผ่านการตัดแต่งให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรแล้ว พระองค์ทรงมีความพอพระทัยในจีวรที่ตัดแต่งออกมา
และได้ประทานอนุญาตให้พระภิกษุสามารถใช้ผ้า 3 ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง เป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับพระภิกษุ
โดยในเวลาต่อมาได้ทรงอนุญาตให้สามารถใช้ผ้าสังฆาฏิสองชั้นแทนผ้าสังฆาฏิชั้นเดียว เพื่อเป็นการป้องกันความหนาวเย็นของอากาศ
พร้อมทั้งได้กล่าวอีกว่า พระภิกษุไม่ควรใช้จีวรมากกว่า 3 ผืนนี้ หากพระภิกษุรูปใดมีจีวรมากกว่า 3 ผืนถือว่าเป็นการผิดวินัยและอาบัติ
สำหรับพระภิกษุที่มีจีวรมากเกินกว่า 3 ผืน หรือที่เรียกว่า “อติเรกจีวร” ที่หมายถึง จีวรที่มีเกินจำนวนกำหนดของพระวินัย ซึ่งผ้าอติเรกจีวรนี้พระภิกษุสามารถถือครองจีวรนี้ได้ไม่เกิน 10 วัน
แต่หากต้องการถือครองเกิน 10 วันจะต้องทำให้เป็นจีวรที่เรียกว่า “วิกัปอติเรกจีวร” โดยการทำให้จีวรชุดนั้นมีเจ้าของมากกว่า 1 รูป หรือมีพระภิกษุที่ถือครองผ้าจีวรนี้สองรูป เป็นการป้องกันไม่ให้ผิดพระวินัย
เหตุที่ทำให้เกิดวิกัปอติเรกจีวร เนื่องจากพระอานนท์ต้องการที่จะถือครองผ้าจีวรไว้ให้กับพระสารีบุตร ซึ่งอยู่ยังเมืองอื่นที่ห่างออกไปไกล โดยต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 10 วัน ซึ่งทำให้พระอานนท์ต้องถือครองจีวรนานกว่ากำหนดของพระวินัย และได้ทูลถามองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะต้องทำเช่นไรถึงจะไม่ผิดพระธรรมวินัย
องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงได้ให้คำแนะนำให้พระอานนท์ทำผ้าอติเรกจีวรดีให้เป็นวิกัปอติเรกจีวร เพื่อที่พระอานนท์จะได้ถือครองผ้าจีวรนานมากกว่า 10 วันและสามารถนำไปมอบให้กับพระสารีบุตรได้
ผ้าไตรจีวร ประกอบด้วย
ผ้าไตร ประกอบด้วย – เมื่อกล่าวถึง ผ้าไตร หรือ ผ้าไตรจีวร ถือเป็นบริขารที่จำเป็นของพระสงฆ์ ซึ่งผ้าไตรจีวรประกอบด้วย ผ้า 3 ชิ้น ดังนี้
1. อุตราสงค์หรือจีวร
คือ ผ้าผืนที่พระสงฆ์ใช้สำหรับห่มภายนอก เป็นผ้าที่อยู่ด้านนอกสุดเวลาที่พระสงฆ์ถือครองผ้า เวลาประกอบกิจของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้คนทั่วไปจึงเรียกผ้าครองของพระสงฆ์ว่า “จีวร” เพราะเป็นผ้าที่เห็นมากที่สุด
2. อันตรวาสกหรือสบง
คือ มีลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมทำหน้าที่ในนุ่งด้านในของพระสงฆ์ โดยเป็นผ้าช่วยปกปิดอวัยวะช่วงล่างของพระสงฆ์ ผ้าอันตรวาสกนี้จะต้องเป็นผ้าที่มีความหนาและทนทาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดในขณะที่ทำการสวมใส่ เพราะที่บริเวณนี้ได้รับการเสียดสีมากกว่าผ้าชนิดอื่น
3. สังฆาฏิหรือผ้าสังฆาฏิ
คือ ผ้าพาดบ่าหรือผ้าที่ใช้นุ่งซ้อนทับบนจีวรอีกครั้ง ในครั้งอดีตผ้าสังฆาฏิจะมีไว้ห่มทับจีวรอีกชั้น เพื่อป้องกันความหนาวเย็นของอากาศ ทว่าในปัจจุบันในไทยมีสภาพอากาศที่ร้อน จึงนำมาห่มหรือพับและวางทาบไว้บนบ่า เพื่อความเรียบร้อยและความเป็นระเบียบของพระสงฆ์เวลาที่ทำกิจของสงฆ์ เช่น การออกไปบิณฑบาต การรับกิจนิมนต์งานทำบุญ เป็นต้น
ดังนั้น การถวายผ้าไตรจีวรก็คือ การถวายผ้าทั้ง 3 ชนิดดังที่ชี้แจงให้ทุกท่านได้ทราบด้านบนนั่นเอง
ผ้าไตรจีวรทำจากผ้าอะไร
ในสมัยพุทธกาล ผ้าที่นำมาทำจีวรสามารถทำได้ทุกชนิด ขึ้นอยู่กับว่าพระสงฆ์เจอผ้าชนิดใดที่ถูกทิ้งไว้ หรือขึ้นอยู่กับการถวายของผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย มีทั้งผ้าที่เป็นเนื้อละเอียดและผ้าที่เป็นเนื้อหยาบปะปนกัน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระภิกษุบางส่วนเกิดความสับสน ว่าผ้าชนิดใดกันแน่ที่สามารถนำมาทำเป็นผ้าจีวรได้ จึงได้นำความไปสอบถามองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ในครั้งนั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทำการอนุญาตจีวรจำนวน 6 ชนิด คือ
- โขมะ คือ ผ้าที่ทำจากเปลือกไม้หรือผ้าเปลือกไม้
- กัปปาสิกะ คือ ผ้าที่ทำจากฝ้ายหรือผ้าฝ้าย
- โกเสยะ คือ ผ้าที่ทำจากเส้นไหมหรือผ้าไหม
- กัมพล คือ ผ้าที่ทำจากขนสัตว์ชนิดต่าง ๆ หรือผ้าขนสัตว์
- สาณะ คือ ผ้าที่ทำจากเส้นป่านหรือผ้าป่าน
- ภังคะ คือ ผ้าที่ทำจากวัสดุในข้อใดตั้งแต่ข้อ 1-5 นำมาผสมกัน
ไม่ว่าเป็นผ้าชนิดใดใน 6 ชนิดนี้ ทั้งการเก็บได้หรือมีการนำมาถวาย สามารถนำมาทำเป็นจีวรได้ทั้งสิ้น
อุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการทำผ้าไตรจีวร
ในสมัยพุทธกาล วัสดุที่ใช้ในการเย็บผ้ามีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบมีลักษณะและราคาที่ต่างกัน มีทั้งที่ราคาสูงและราคาต่ำ และลักษณะของผ้าที่ได้มีขนาด รูปร่างที่ต่างกัน
ดังนั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามารถให้ทำการเย็บผ้าจีวรได้ดังนี้
- ผ้าบังสุกุลหนัก จึงทรงอนุญาตให้เย็บดามด้วยด้าย
- มุมไม่เสมอ สามารถเจียนมุมออกเพื่อให้มุมเสมอกันได้
- ด้ายลุ่ย สามารถทำการตัดด้ายที่รุยออกได้
- แผ่นผ้าสังฆาฏิลุ่ย สามารถเย็บตะเข็บเป็นตาหมากรุกได้
- เมื่อสงฆ์ทำจีวรให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผ้า 2 ผืนไม่ตัด ผืนหนึ่งต้องตัด ผ้าก็ยังไม่พอ สามารถให้เพิ่มผ้าเพลาะ
- อนุญาตให้สามารถสละจีวรให้แก่มารดาบิดาได้เท่านั้น
- ภิกษุมีแต่อุตราสงค์ (จีวร) กับอัตราวาสก (สบง) ไม่สามารถเดินทางหรือเข้าไปร่วมกิจนิมนต์ใดได้
ที่กล่าวมานี้เป็นข้อที่สามารถปฏิบัติได้ของพระสงฆ์เกี่ยวกับจีวรที่นำมาใช้ ในสมัยพุทธกาล ซึ่งในปัจจุบันก็ยังยึดหลักดังกล่าวแต่มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและความสะดวกของผู้ใช้งานด้วย
สีที่สามารถทำผ้าไตรจีวรได้
เนื่องจากผ้าในสมัยพุทธกาลที่พระภิกษุสามารถนำมาใช้เป็นจีวรได้ จะต้องเป็นผ้าที่ได้รับการบริจาคหรือผ้าที่ทิ้งไว้ ทำให้ผ้าที่พระภิกษุนำมาทำเป็นจีวรมีหลายสีด้วยกัน และผ้าจีวรมีสีที่ต่างกันตามวัสดุที่นำมาใช้ในการทอหรือผลิตเป็นผืนผ้า
ผ้าบางชนิดมีสีขาว ผ้าบางชนิดมีสีตุ่น หรือมีสีสันสดใส และยังมีสีที่ไม่สามารถนำมาใช้เย็บเป็นจีวรได้ คือ สีเขียวล้วน, เหลืองล้วน, แดงล้วน, สีบานเย็นล้วน, ดำล้วน, สีแสดล้วนและชมพูล้วน
ดังนั้น หากได้ผ้าที่สีดังกล่าวมาจะต้องนำมาย้อมเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้
ด้วยเหตุนี้ เพื่อความเป็นระเบียบของพระภิกษุจึงได้มีการให้นำจีวรที่มีอยู่มาย้อมสีได้
โดยสีที่สามารถนำมาย้อมจีวรได้ จะต้องทำจากวัสดุ 6 ชนิด คือ รากไม้, ลำต้นไม้, เปลือกไม้, ใบไม้, ดอกไม้และผลไม้
นอกจากนั้นยังทรงอนุญาตให้สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆในการย้อม คือ หม้อต้มน้ำย้อม, ตะกร้อสำหรับกันน้ำล้น, กระบวยสำหรับตักน้ำ, อ่างกับรางสำหรับย้อม เพื่อนำมาย้อมผ้าจีวรและอุปกรณ์สำหรับซักผ้า คือ ไม้สำหรับซักจีวร ราวตากจีวร ซึ่งวิธีการตากจีวรจะต้องทำการผูกมุมจีวรแล้วจึงทำการตาก
สีผ้าไตรจีวร ในปัจจุบัน
ปัจจุบันนี้ ไตรจีวรหรือจีวรของพระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องหาจากผ้าที่ทิ้งแล้ว แต่เป็นพุทธศาสนิกชนหรือญาติโยมนำไปถวาย เพื่อสร้างความเป็นกุศลให้ตนเอง ครอบครัวและดวงวิญญาณทั้งหลาย
ซึ่งสีของจีวรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีดังนี้
- สีส้มเหลืองหรือจีวรสีส้มเหลือง เป็นสีจีวรที่ใช้เฉพาะมหานิกาย
- สีพระราชทาน เป็นสีจีวรที่ใช้กับพระสงฆ์ในวัดทั่วไป วัดสายธรรมยุต
- สีแก่นขนุน เป็นสีจีวรที่ใช้ของพระกรรมฐาน
- สีแก่นขนุนเข้ม เป็นสีจีวรที่ใช้กับพระสายกรรมฐานทางภาคอีสาน
- สีกรักดำ เป็นสีจีวรที่ของพระธุดงค์หรือพระทางภาคเหนือ พระคูบา
ขนาดผ้าไตรจีวร
ขนาดจีวรพระ การเลือกขนาดของผ้าไตรจีวร – ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุเป็นผู้ที่ตัดเย็บจีวรด้วยตนเอง ดังนั้นจึงไม่ได้มีการกำหนดขนาดของจีวรไว้เป็นมาตรฐาน พระภิกษุจะตัดเย็บตามขนาดตัวของตน
ทว่าปัจจุบันนี้ เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ ผู้ผลิตจีวรจึงได้มีการกำหนดขนาดมาตราฐานของจีวร ขนาดจีวร ไว้ในการเลือกซื้อไว้ ตามความสูงและขนาดตัวของพระสงฆ์ ดังนี้
1. พระภิกษุที่สูงไม่เกิน 160 ซม. ควรใช้ขนาดความสูง 190 ซม. กว้าง 320 ซม.
2. พระภิกษุที่สูง 160 – 170 ซม. ควรใช้ขนาดความสูง 200 ซม. กว้าง 320 ซม.
3. พระภิกษุที่สูง 170 – 180 ซม. ควรใช้ขนาดความสูง 210 ซม. กว้าง 320 ซม. เป็นขนาดมาตรฐานที่สามารถใช้ได้ทุกความสูง หากไม่ทราบขนาดความสูงหรือการซื้อไปถวายแบบไม่เจาะจงตัวบุคคล
4. พระภิกษุที่สูง 180 ซม.ขึ้นไปหรือมีรูปร่างสูงใหญ่ ควรใช้ขนาดความสูง 220 ซม. กว้าง 320 ซม.
นอกจากจีวรที่มีขนาดเป็นมาตรฐานแล้ว ยังมีการสั่งตัดจีวรตามขนาดของพระสงฆ์ให้เหมาะสมกับขนาดตัวด้วย
แต่การตัดเย็บจีวรไม่เป็นที่นิยม เพราะถือเป็นการเจาะจงและไม่ละซึ่งกิเลส
นิยมสั่งตัดขนาดของจีวร สำหรับพระสงฆ์ที่มีขนาดตัวใหญ่มากกว่าคนทั่วไป ทำไม่สามารถใส่จีวรขนาดมาตรฐานทั่วไปได้ จึงจำเป็นต้องสั่งตัดเท่านั้น
ซื้อผ้าไตรจีวร
หลักการเลือกผ้าไตรจีวร ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง?
การเลือกซื้อ ผ้าไตรจีวร สำหรับถวายพระในปัจจุบันนี้ มีหลักการเลือกเพื่อให้เหมาะสมกับพระสงฆ์และสถานที่บวชของพระ
ซึ่งหลักการเลือกผ้าไตรจีวร มีดังนี้
1. สีของจีวร
ปัจจุบันนี้วัดแต่ละพื้นที่และแต่ละวัดจะมีสีของจีวรที่ใช้โดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้องใช้สีจีวรที่เหมือนกันเท่านั้นจึงจะสามารถจำพรรษาอยู่ในวัดได้ แต่เพื่อความเป็นระเบียบและความสามัคคีของพระสงฆ์ภายในวัดแล้ว ควรเลือกใช้สีของจีวรให้ตรงกับสีที่พระสงฆ์ในวัดใช้กันอยู่ โดยสามารถสอบถามหรือสังเกตจากสีของจีวรพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดในเมืองที่มีความเคร่งครัดด้านการปฏิบัติของพระสงฆ์ควรเข้าไปสอบถามเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ในการดูแลกฎของวัด
2. ขนาดของจีวร
ขนาดของจีวรที่นำมาถวายพระสงฆ์มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
2.1 การถวายเฉพาะตัวบุคคล
การเลือกผ้าไตรจีวรสำหรับนำมาถวายพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ผ้าไตรใช้ในงานบวช การถวายผ้าไตรเป็นสังฆทานให้พระสงฆ์เป็นการส่วนตัว เป็นต้น การเลือกจีวรแบบนี้ควรทราบถึงขนาดความสูงและน้ำหนักของพระสงฆ์ที่ต้องการถวายให้ เพื่อจะได้เลือกขนาดของจีวรให้เหมาะสม
2.2 การถวายไม่เจาะจงตัวบุคคล
การเลือกผ้าไตรจีวรสำหรับนำไปถวายพระสงฆ์แบบที่ไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล เช่น การถวายสังฆทาน การถวายผ้าป่า เป็นต้น การเลือกผ้าไตรแบบนี้สามารถเลือกใช้ได้ทุกขนาด แต่เพื่อควรเลือกขนาดที่เป็นมาตรฐานที่พระสงฆ์ไม่ว่าจะมีความสูงหรือขนาดเท่าใดก็สามารถใส่ได้ ขนาดที่นิยมซื้อมาถวายแบบนี้ คือ ขนาดความสูง 210 ซม. กว้าง 320 ซม.
3. ชนิดของผ้าไตร
ปัจจุบันผ้าที่นำมาใช้ในการทำผ้าจีวรมีให้เลือกหลายชนิด ซึ่งผ้าแต่ละชนิดล้วนมีคุณสมบัติต่างกันออกไป ซึ่งผ้าจีวรที่ได้รับความนิยมใช้กันมีดังนี้
3.1 ผ้ามัสลิน
ผ้าไตรจีวรที่ทำจากผ้าลิสมันมีมีคุณสมบัติดูดซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดีมาก เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่มปานกลาง ทิ้งตัวได้ดี มีน้ำหนักปานไม่ระคายเคือง เป็นผ้าที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อน ชื้น ที่ทำให้พรสงฆ์มีเหงื่อออกมาก แต่ว่าผ้ามัสลินมีดูดซับเหงื่อได้ดี ทำให้มีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มีอากาศชื้นอยู่ตลอดเวลา หากทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ
3.2 ผ้าโทเร
ผ้าโทเรเป็นผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติผสมกับส้นใยสังเคราะห์โดยใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ประมาณ 65% และเส้นใยธรรมชาติเป็นเส้นใยฝ้าย 35% ผ้าเทโรมีลักษณะบางเบา ระบายอากาศอากาศได้ดี ทนทานต่อการขีดข่วน ฉีกขาด คงรูปได้ดี ดูแลรักษาได้ง่าย เนื่องจากมีเส้นใยสังเคราะห์ผสมในอัตราส่วนเกินครึ่ง แต่ซับน้ำได้ไม่ดี เวลาสวมใส่จึงไม่ช่วยซับเหงื่อ
3.3 ผ้าฝ้าย
ผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่นิยมนำมาทำเป็นผ้าจีวรสำหรับพระสงฆ์ที่อยู่ในภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น เพราะว่าจีวรผ้าฝ้ายมีความหนาให้ความอบอุ่นได้ดี หริพระธุดงค์ที่ต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในป่าที่มีอากาศหนาวเย็น แต่ว่าผ้าชนิดนี้ยับง่าย และทำความสะอาดค่อนข้างยาก
3.4 เนื้อผ้าชนิดอื่น ๆ
นอกจากจีวรที่ผลิตจากผ้า 3 ชนิดข้างต้นที่พบได้บ่อยแล้ว ยังมีจีวรที่ผลิตจากผ้าชนิดอื่น เช่น ผ้าเปลือกไม้, ผ้าฝ้าย, ผ้าไหม, ผ้าขนสัตว์, ผ้าป่าน และเส้นใหญ่ผสม เป็นต้น ซึ่งจีวรแบบนี้จะเป็นจีวรที่ทำขึ้นใช้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น เช่น ในพื้นที่หนาวเย็นจัด ๆ จะใช้จีวรขนสัตว์ เป็นต้น
นี่เป็นหลักการเลือกจีวรที่นำมาใช้ในการถวายพระสงฆ์ ซึ่งการเลือกควรเลือกให้เหมาะสม เพื่อให้พระสงฆ์ได้รับผ้าไตรจีวรพระที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง npg ทำให้การถวายผ้าไตรจีวรไม่ว่าจะเป็นแบบเจาะจงตัวบุคคล หรือแบบไม่เจาะจงตัวบุคคล ย่อมเป็นการทำทานที่สร้างกุศลให้ผู้ทำอย่างแท้จริง