เครื่องประโคม และดนตรีประโคมงานศพ คืออะไร สำคัญอย่างไร

เครื่องประโคม และดนตรีประโคมงานศพ คืออะไร สำคัญอย่างไร

การเล่นเครื่องประโคมหรือดนตรีประโคมงานศพ – หนึ่งในองค์ประกอบของงานศพที่ดำรงมาอย่างยาวนานคือ การเล่นเครื่องประโคมหรือดนตรี ตลอดจนการขับร้องรำทำเพลงและการละเล่นต่าง ๆ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป

ว่าแต่เหตุใดในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายและการจากลา จึงมีการละเล่นรื่นเริงเสมือนหนึ่งงานสังสรรค์ บทความนี้มีคำตอบมาฝาก

เครื่องประโคม และดนตรีประโคมงานศพ คืออะไร สำคัญอย่างไร

 

การประโคมเกิดขึ้นเมื่อใด

การประโคมหรือเล่นดนตรีในงานศพ เป็นพิธีกรรมที่สืบย้อนกลับไปได้หลายพันปี หลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเครื่องประโคมงานศพที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอายุมากกว่า 3,000 ปี ประกอบด้วย เครื่องตีและเครื่องเป่าที่ประดิษฐ์ขึ้นจากไม้เป็นหลัก

ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการใช้โลหะในการประดิษฐ์เครื่องประโคมมากยิ่งขึ้น อาทิ กลองทองมโหระทึก ฆ้อง และแคน โดยนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า กลองทองมโหระทึกมีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของดนตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมฆ้องที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในวงปี่พาทย์ ในตำแหน่งประธานของวง

กลองทองมโหระทึก 2 ใบ
กลองมโหระทึก 2 ใบ วงสังข์แตร และวงปี่ไฉน กลองชนะ เป็นวงประโคมย่ำยามจากงานเครื่องสูง ของสำนักพระราชวัง (ภาพจากหนังสือการมหรสพและแบบแผนในการประโคมดนตรีในงานพระเมรุ เอกสารประกอบกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เสวนา เสาร์ 2 กันยายน 2560 หน้า 19)
กลองทองมโหระทึก ใช้ประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว
กลองทองมโหระทึก ใช้ประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว [ภาพกลองทองมโหระทึก พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม อ. เมืองฯ จ. อุตรดิตถ์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร]
งานศพดึกดำบรรพ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว
งานศพดึกดำบรรพ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว [ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนในถ้ำตาด้วง บ้านวังกุลา ต. ช่องสะเดา อ. เมืองฯ จ. กาญจนบุรี]

.

กลองทอง มโหระทึก เครื่องประโคมงานศพ อุษาคเนย์ 2,500 ปีมาแล้ว

กลองทองมโหระทึก เป็นเครื่องประโคมทำขวัญ (เรียกขวัญ และส่งขวัญ) งานศพ ในกลุ่มชนทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ราว 2,500 ปีมาแล้ว

กลองทอง หรือ มโหระทึก หล่อด้วยโลหะผสม เรียกสำริด หรือ ทองสำริด อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว กลุ่มคนในตระกูลภาษาต่างๆ จึงเรียกกลองทอง (หมายถึงกลองทองสำริด)

– ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_59387

 

การประโคมในงานอวมงคลหรืองานศพ

แต่เริ่มเดิมทีนั้น การประโคมหรือเล่นดนตรีนั้นถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเรียกผีขวัญ หรือเรียกวิญญาณของผู้ตายให้กลับคืนสู่ร่างนั่นเอง

ก่อนที่ในกาลต่อมา พิธีกรรมดังกล่าวจะได้รับการผสมผสานเข้ากับพิธีกรรมการจัดงานศพแบบอื่น ๆ ที่ได้รับเข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนาจากอินเดีย ที่ปรากฎเห็นชัดคือ การประโคมย่ำยาม หรือการประโคมดนตรีในงานพระราชพิธีเพื่อประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพของกษัตริย์

ดังปรากฎในงานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งมีการนำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวังด้วย สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการประโคมย่ำยามในฐานะประเพณีโบราณที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

รู้จักเครื่องประโคม

เครื่องประโคม คือเครื่องดนตรีที่ใช้สำหรับการประโคมหรือละเล่นในงานอวมงคลหรืองานศพ โดยเฉพาะงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง

เครื่องประโคมที่ใช้งานงานอวมงคลนั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท และมีความแตกต่างกันตามยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้วายชนม์ โดยเครื่องประโคมที่นิยมใช้บรรเลงในงานศพ ยกตัวอย่างเช่น

 

1. ปี่พาทย์นางหงส์

ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นรูปแบบวงปี่พาทย์ที่ผสมระหว่างวงปี่พาทย์ไม้แข็งกับวงปี่ชวา-กลองมลายู เรียกอีกประการได้ว่า วงบัวลอย ในสมัยก่อนวงปี่พาทย์นางหงส์นิยมใช้ประโคมในงานศพคนชั้นสูงเป็นหลัก ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะค่อย ๆ ได้รับการเผยแพร่และใช้งานในงานศพของสามัญชน

ที่ขานนามว่าวงปี่พาทย์นางหงส์นั้นเป็นไปตามความเชื่อว่า หงส์จะพาดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับเดินทางไปสู่เมืองฟ้าได้อย่างปลอดภัย สอดคล้องกับความเชื่อโบราณที่มักจะเกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์อย่างสุนัขหรือหงส์เป็นพาหนะพาคนตายไปยังสรวงสวรรค์

ปี่พาทย์นางหงส์
ปี่พาทย์นางหงส์

.

ปี่พาทย์นางหงส์ ประโคมงานศพคนชั้นสูง
ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นเครื่องดนตรีประโคมงานศพของคนชั้นสูง หรือคนชั้นนำระดับสูง แล้วแพร่หลายสมัยหลังๆ ลงสู่งานศพสามัญชนชาวบ้านกลุ่มแคบๆ ในเมือง

– ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_58170

 

วงปี่พาทย์นางหงส์ (ตามแบบแผนเดิม)
วงปี่พาทย์นางหงส์ (ตามแบบแผนเดิม) ใช้ปี่ชวา, กลองมลายู (2 ใบ) (ภาพจากหนังสือของกรมศิลปากร)

– ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_346863

.

2. ปี่พาทย์ ฆ้องวง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้วงปี่พาทย์ ฆ้องวง ซึ่งประกอบด้วยปี่ ฆ้อง และกลอง ในการเล่นดนตรีประโคมศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่งานศพอย่างเดียวเท่านั้น หากยังมีการใช้ในงานพิธีกรรมทั่วไปอย่างงานแก้บท การเล่นละคร และหนังใหญ่อีกด้วย

 

3. ปี่ กลอง

ในบรรดาเครื่องประโคมที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี่และกลองเป็นเครื่องดนตรีที่มีการประดิษฐ์ขึ้นหลังสุดโดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียใต้และลังกา เครื่องประโคมดังกล่าวสามารถเรียกรวมกันได้ว่า ‘ปัญจวาทยะ’ หรือ ปัญจตุริย ซึ่งนิยมเรียกว่า วงปี่ชวา กลองแขก ซึ่งนับเป็นเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมชวา-มลายูทางตอนใต้ของประเทศไทย

ซึ่งในเวลาต่อมา ราชสำนักได้รับมาใช้ประโคมเป็นหลักในขบวนพยุหยาตรา เรียกโดยทั่วไปว่าปัญจดุริยางค์ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยมใช้ประโคมในงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น

 

ความสำคัญของเครื่องประโคม

การใช้เครื่องประโคมเล่นในงานพระราชพิธีสวดอภิธรรมศพของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่นั้นเป็นการผสมผสานพิธีกรรมงานศพโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับวัฒนธรรมตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ซึ่งได้รับการเผยแพร่เข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อว่ากษัตริย์ และขุนนางชั้นสูงเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เมื่อสิ้นลมก็จำเป็นต้องมีการประโคมเพื่อส่งขวัญหรือดวงวิญญาณเพื่อขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ได้อย่างปลอดภัย

 

โดยเครื่องประโคมต่าง ๆ โดยเฉพาะวงปี่พาทย์นางหงส์ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเวลาหลายพันปีที่พิธีกรรมจัดการศพในภูมิภาคนี้มีความเกี่ยวพันกับพิธีส่งผีขวัญไปเมืองฟ้า กระทั่งเมื่ออิทธิพลด้านศิลปะ โดยเฉพาะเครื่องประโคมของภูมิภาคเอเชียใต้และชวาเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก จึงมีการใช้เครื่องโคมแบบใหม่เพื่อส่งเจ้านายชั้นสูงไปเมืองฟ้า

 

เครื่องประโคมจึงมีความสำคัญในฐานะเครื่องดนตรีที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และผสมผสานไว้ด้วยวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลาย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

พิธีสวดพระอภิธรรมศพ ความเป็นมาและความสำคัญ

NippanGift นิพพานกิฟ ของชำร่วยงานศพ ราคาส่ง

 

แม้ว่าในปัจจุบันการประโคมย่ำยามจะไม่ค่อยมีให้เห็นนัก แต่ในงานพระราชพิธีสวดอภิธรรมพระศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ชาวไทยได้มีโอกาสประจักษ์พิธีกรรมประโคมย่ำยามอันเป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติในราชสำนักมาอย่างยาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเครื่องประโคมมิได้เป็นเพียงแค่เครื่องดนตรีเป็นอย่างเดียว แต่ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวมากมายไว้ภายใต้เพลงที่บรรเลงในพิธีกรรมเหล่านั้นอีกด้วย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

 
 
 

Product added!
The product is already in the wishlist!
Removed from Wishlist

The product has been added to your cart.

Continue shopping View Cart

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ปุ่ม ตั้งค่า 

ยอมรับทั้งหมด Accept Required Only