
การฝังศพพร้อมกับภาชนะดินเผา และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ เป็นรูปแบบที่นักโบราณคดีได้ค้นพบว่ามีลักษณะร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์ หรือ เอเชียอาคเนย์) มาแต่โบราณกาล
ซึ่งการฝังเครื่องมือเครื่องใช้พร้อมกับศพ เป็นรูปแบบพิธีกรรมปลงศพที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีความเกี่ยวพันกับชีวิตหลังความตายของผู้คนในภูมิภาคดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทย
ซึ่งเราจะพาคุณไปหาคำตอบกันว่าเหตุใดจึงต้องมีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ไปพร้อมกับศพ และทำไมรูปแบบดังกล่าวจึงพบได้ทั่วไปในพื้นที่ภูมิภาคนี้
ยาวไป เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ
พิธีกรรมการฝังศพในยุคดึกดำบรรพ์
หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีการขุดพบข้าวของเครื่องใช้ และเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่ภายในบรรจุกระดูกของผู้วายชนม์
บ่งชี้ว่าพิธีกรรมการฝังศพ (Mortuary Practice) ในภูมิภาคนี้มีลักษณะร่วมกัน นั่นคือ มีรูปแบบการจัดการศพ จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่
1. การฝังศพครั้งที่ 1
ซึ่งเป็นการฝังร่างของผู้ล่วงลับลงไปในดินร่วมกับข้าวของเครื่องใช้หรือไม่ก็ได้
2. การฝังศพครั้งที่ 2
เป็นการขุดร่างที่ฝังครั้งแรกขึ้นมา เพื่อเก็บกระดูกที่หลงเหลือจากการย่อยสลาย เพื่อนำไปบรรจุลงในภาชนะเครื่องปั้นดินเผา แล้วนำไปฝังดินอีกครั้ง และ
3. การจัดการศพแบบใหม่ ไม่พึ่งการฝังศพอีกต่อไป
เมื่อพิธีการเผาศพเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับพุทธศาสนา การเผาศพจึงเป็นรูปแบบในการจัดการศพรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งการฝังศพอีกต่อไป
และพิธีกรรมดังกล่าวก็ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ ประเพณีการฝังศพก็เริ่มเลือนหายไป เหลือไว้เพียงหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังถูกขุดพบเจอภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่บรรจุกระดูกคนตายอยู่เรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
ทำไมต้องฝังเครื่องมือเครื่องใช้พร้อมกับศพ
นักโบราณคดีเชื่อว่า การฝังข้าวของเครื่องใช้ประเภทภาชนะเครื่องปั้นดินเผาไปพร้อมกับศพนั้น เป็นการอุทิศของให้กับศพ
ลักษณะความวิจิตรสวยงามและหรูหราของภาชนะเครื่องปั้นดินเผานั้นจะขึ้นอยู่กับสถานภาพของครอบครัวผู้วายชนม์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาชนะเขียนลายสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ภาชนะดินเผาเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และภาชนะดินเผาทาน้ำมันดินสีแดงและขัดมัน
นอกจากภาชนะดินเผาแล้ว ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังมีการบรรจุเครื่องประดับอย่างสำริด เหล็ก ลูกปัดแก้ว กระดูกสัตว์ เครื่องประดับที่ทำจากแก้ว กระดองเต่า เปลือกหอยมือเสือ หินมีค่า ขวานหินขัด ตลอดจนกำไลเปลือกหอย เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ล่วงลับ
ทั้งนี้ วัตถุที่ขุดพบพร้อมกับศพจะมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย และสามารถใช้บ่งชี้ได้ว่า ผู้ตายเป็นคนที่ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงเวลาไหนของประวัติศาสตร์จากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังลงไปพร้อมกับศพ ของที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ ราคาถูก ราคาส่ง
ประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังกับศพ มีอะไรบ้าง
เครื่องมือเครื่องใช้ที่ถูกฝังกับศพในยุคดึกดำบรรพ์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่นักโบราณคดีพบว่ามีการฝังลงไปพร้อมกับศพนั้นมีอยู่มากกมายหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
1. เฉลว เครื่องจักรสาน
เฉลว เครื่องจักรสานประเภทนี้ทำจากดอกไม้ไผ่ จำลองรูปแบบจากก้นหอยบนกลางกระหม่อม เรียกว่า ตะเหลว หรือ ตะแหลว ซึ่งในเวลาต่อมาคำดังกล่าวได้เพี้ยนมาเป็น เฉลว
ซึ่งนักโบราณคดีพบว่ามีการนำเฉลวฝังลงไปพร้อมกับศพ ตามความเชื่อว่าจะช่วยเรียกขวัญให้ผู้ล่วงลับสามารถเดินทางไปเมืองฟ้าได้สำเร็จ แต่เนื่องจากเฉลวทำจากดอกไม้ไผ่จึงมักย่อยสลายไปกับศพ ไม่ค่อยหลงเหลือหลักฐานที่มีความสมบูรณ์มากนักเฉลว จำลองขวัญลายก้นหอยบนกลางกระหม่อม น่าเชื่อว่าเฉลวยุคแรกสุดใช้ฝังกับศพเพื่อเรียกขวัญ แต่เน่าเปื่อยย่อยสลายหมดไปเพราะทำจากตอกไผ่บางๆ
– ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/daily-column/news_1364834
2. หม้อเขียนสีบ้านเชียง
หม้อลายเขียนสีบ้านเชียง หนึ่งในหลักฐานทางโบราณคดีที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยหม้อบ้านเชียงที่ขุดพบที่หลุมฝังศพบ้านเชียง ณ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี นั้นมีอายุมากกว่า 2,500 ปี ศิลปะที่ปรากฏบนหม้อบ้านเชียงมีลวดลายหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะพบเป็นลายขวัญคล้ายก้นหอยหรือลายนิ้วมือ อันมีความหมายสื่อถึงการส่งผีขวัญให้กับผู้ล่วงลับได้เดินทางไปเมืองฟ้าอย่างแคล้วคลาดปลอดภัย
ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของศาสนาผีอันเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกลงในอารยธรรมของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนานเป็นเวลาหลายพันปี
ด้วยเหตุนี้ นักโบราณคดีจึงค้นพบการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ร่วมกับศพทั่วไปในภูมิภาคนี้ เนื่องจากในอดีตกาลก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม ผู้คนในแถบนี้ต่างมีความเชื่อร่วมกันในศาสนาผี หากแต่มีจารีตประเพณีแตกต่างกันไปในเชิงรายละเอียดตามแต่ละพื้นที่นั่นเอง
(ซ้าย) หม้อลายเขียนสีเป็นรูปต่างๆ ในศาสนาผี ฝีมือแม่หญิงยุคนั้น ราว 2,500 ปีมาแล้ว
(ขวา) หม้อลายเขียนสี ฝังรวมกับศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี
[ภาพจากหนังสือ มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2550] – ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_152019
3. หม้อบ้านเชียงไม่ได้ใช้ใส่อาหาร
งานของสุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคนสำคัญของไทย พบว่า หม้อบ้านเชียงที่มีการใส่ลงไปฝังดินพร้อมกับศพนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นภาชนะสำหรับบรรจุอาหารแต่อย่างใด
แต่กลับ ใช้สำหรับการเรียกขวัญศพโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับโลหะและหม้อลายเขียนสีประเภทอื่นๆ ที่นำฝังดินไปพร้อมกับศพเพื่อให้ผู้วายชนม์ที่ขวัญหนีหรือขวัญหาย (ขวัญตามความเชื่อโบราณมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิญญาณตามความเข้าใจของคนสมัยใหม่) ได้ใช้เมื่อขวัญกลับเข้าร่าง
ซึ่งในช่วงแรก การฝังเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้จะใช้สำหรับผู้ล่วงลับที่เป็นสมาชิกของตระกูลหมอผีหรือหัวหน้าเผ่าเท่านั้น เนื่องจากเชื่อว่ามีอาคมวิเศษ มีความศักดิ์สิทธิ สามารถฟื้นคืนจากความตายได้
ก่อนที่ในเวลาต่อมาพิธีกรรมเรียกผีขวัญจะได้รับการเผยแพร่ไปและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในครอบครัวของพ่อมดหมอผีอีกต่อไป รวมถึงพิธีกรรมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมกับศพด้วย
การฝังศพพร้อมกับภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องประดับต่างๆ เป็นพิธีกรรมโบราณที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้ก็จะพบว่าในปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยของความเชื่อตามศาสนาผีปรากฏอยู่ในพิธีกรรมในการจัดการศพในปัจจุบันเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการนำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ล่วงลับใส่ลงไปในโลงศพก่อนการเผา หรือการเผากงเต็กเพื่อให้ผู้ล่วงลับได้มีเครื่องใช้ไม่ขัดสนยามเมื่ออยู่บนเมืองฟ้า ที่เป็นเช่นนี้เพราะวัฒนธรรมของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง และปรับเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอนั่นเอง