เผาหลอก เผาจริง ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

เผาหลอก เผาจริง ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

ปัจจุบันนี้ การเผาหลอก เผาจริง เป็นขั้นตอนพิธีศพที่นำมาปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในเมืองใหญ่และในพื้นที่ต่างจังหวัด

 

ทว่าหลายคนยังมีข้อสงสัยถึงการเผาหลอก เผาจริง ที่ปฏิบัติกันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมถึงต้องมีการเผาหลอกในพิธีศพ

เหตุใดจึงไม่ทำการเผาจริงหลังจากการวางดอกไม้จันทน์เสร็จสิ้นแล้ว

 

ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการเผาหลอก เผาจริง ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรและทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใดกัน

เผาหลอก เผาจริง ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

 

ประวัติของการเผาหลอก เผาจริง

การเผาศพคนตายเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางอินเดีย  สำหรับการเผาหลอกมิได้เป็นพิธีดั้งเดิมของคนไทยในสมัยโบราณ  ถึงแม้ว่าจะมีความนิยมในการเผาศพก็ตาม

 

พิธีการเผาหลอก เผาจริง ธรรมเนียมโบราณตั้งเเต่สมัย รัชกาลที่5

 

โดยการเผาศพเป็นความเชื่อตามหลักศาสนาพราหมณ์-พุทธ ที่เชื่อว่าการตาย หมายถึง การหลุดพ้นและการไม่มีอัตตาหรือการไม่ยึดติดกับทุกสิ่ง และเพื่อไม่ให้ดวงวิญญาณของผู้ตายเกิดการยึดติดกับร่างกายและสิ่งที่เคยมีอยู่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ จึงต้องทำการเผาศพเพื่อไม่ให้หลงเหลือสิ่งที่จะใช้ยึดเหนี่ยว ของที่ระลึกงานศพ

ดังนั้น เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น ญาติจะทำการเผาศพของผู้ตายและนำอัฐิไปลอยแม่น้ำ (ลอยอังคาร) ซึ่งจะลอยในแม่น้ำคงคาตามความเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถชำระล้างได้ทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่บาปกรรมที่คนผู้นั้นได้เคยกระทำไว้ครั้งยังมีชีวิตอยู่

นอกจากนั้นการลอยอัฐิของผู้ตายไปตามแม่น้ำ ยังทำเพื่อให้วิญญาณของผู้ตายได้หลุดพ้น ซึ่งความเชื่อเรื่องนี้ได้แพร่เข้ามาพร้อมกับหลักศาสนาพราหมณ์-พุทธ ทำให้คนไทยเริ่มมีการเผาศพแทนการฝังศพ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: ประวัติการฝังและเผาศพ

ประวัติการฝังและเผาศพ ในยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน

 

การเผาศพในสมัยก่อนยังไม่มีการสร้างเมรุแบบถาวรเหมือนในปัจจุบันนี้ หากต้องการเผาศพจะทำการสร้าง เมรุลอย หรือ เมรุชั่วคราว ด้วยการนำไม้มาต่อกันเป็นชั้น ๆ เรียกว่า “เชิงตะกอน” ที่สามารถวางศพด้านบนและทำการเผา

 

ซึ่งการเผาศพบนเมรุลอยจะนำศพออกจากโรงศพไปวางบนเมรุลอย และผู้ที่มาร่วมงานศพจะต้องถือท่อนไม้มาด้วย เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานฌาปนกิจศพ เมื่อถึงเวลาฌาปนกิจแขกที่มาร่วมงานจะนำท่อนไม้ที่ตนเองถือมา ทำการจุดไฟและสุ่มเข้าไปใต้เชิงตะกอน ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาใช้ในการเผาศพช่วงแรกจะเป็นไม้ธรรมดา

 ต่อมามีการใช้ไม้จันทน์ซึ่งหาได้ง่ายและมีกลิ่นหอม เพื่อให้กลิ่นหอมของไม้จันทน์ที่ถูกเผาไหม้ กลบกลิ่นเหม็นเน่าของศพที่ทำการเผา 

 

สำหรับการเผาด้วยเมรุชั่วคราวแบบนี้ แขกที่มาร่วมงานทุกคนจะเห็นภาพศพที่เน่าเปื่อยถูกไฟค่อยไหม้ไปอย่างช้า ๆ เป็นภาพที่ไม่น่าดูและจะมีกลิ่นเหม็นสร้างความรำคาญ บางคนได้กลิ่นก็เกิดอาการเวียนหัว อาเจียน ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นในงานพิธีศพของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงด้วยเช่นกัน

ทำให้ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนมากได้เสียชีวิตลง ทำให้มีการฌาปนกิจศพไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง

 

 ข้าราชบริพารจึงได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มขั้นตอนพิธีในงานศพ โดยมีการเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติในการเผาศพโดยจัดให้มีการเผาหลอก ซึ่งในช่วงนั้นเรียกว่า “การเปิดเพลิง” 

คือการเปิดให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ทำการวางดอกไม้จันทน์ที่ด้านล่างของโลงศพ หรือวางในพื้นที่ที่เจ้าภาพได้จัดเตรียมไว้ให้ โดยที่เปลวไฟที่เกิดจากการวางดอกไม้จันทน์จะไม่มีการสัมผัสกับศพโดยตรง เพื่อเป็นการให้ผู้ที่มาร่วมงานได้แสดงความอาลัยและความเคารพผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายในการเผาหลอก

 

ซึ่งการเผาหลอกเป็นขั้นตอนที่สร้างขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้เห็นภาพที่ไม่น่าดูของศพและไม่ต้องได้รับกลิ่นเหม็นของศพนั่นเอง

 

หลังจากที่ทำการวางดอกไม้จันทน์เสร็จแล้วและผู้ที่มาร่วมงานได้กลับไปจนหมดสิ้น  ในช่วงกลางดึก ญาติสนิทและครอบครัวของผู้ตายจะมาทำการเผาศพจริงอีกครั้ง  ซึ่งเป็นการไว้อาลัยผู้ตายอย่างใกล้ชิด

 

โดยการเผาศพที่มีการเผาหลอก เผาจริง เริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูง

ซึ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการนำธรรมเนียมเผาหลอก เผาจริงมาใช้ในพระราชพิธีด้วย

นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำธรรมเนียมการเผาจริง เผาหลอกมาใช้ในพระราชพิธีปลงศพพระมหากษัตริย์

และธรรมเนียมการเผาจริง เผาหลอกก็ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการสร้างเมรุที่เป็นสถานที่ปิดมิดชิดและศพมีการฉีดสารฟอมาลีน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ศพเกิดการเน่าและมีกลิ่นเหม็นได้แล้ว แต่ก็ยังมีการใช้ธรรมเนียมการเผาหลอก เผาจริงในงานพิธีศพสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: เมรุ เมรุเผาศพ สถานที่เผาศพจากชนชั้นสูงสู่ชนชั้นสามัญ

 

ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายศพและความเป็นส่วนตัวของญาติในช่วงเวลาการเผาจริง ให้ได้มีการไว้อาลัยผู้ตายและดำเนินพิธีกรรมเผาอย่างไม่เร่งรีบและถูกต้องตามธรรมเนียมทุกประการ เพื่อที่ดวงวิญญาณของผู้ตายจะได้ไปอย่างสงบ หลังจากที่มีการเผาจริงแล้ว

สำหรับการเผาจริงจะเป็นขั้นตอนหลังจากแขกที่มาร่วมงานได้ทำการวางดอกไม้จันทน์และกลับออกจากงานไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงญาติสนิทและคนในครอบครัวเท่านั้น โดยขั้นตอนมักจะจัดขึ้นในช่วงกลางคืนเพื่อที่จะได้ไม่ไปรบกวนผู้อื่น

เนื่องจากในสมัยก่อนการเผาศพจะเป็นการเผาด้วยเมรุชั่วคราวที่อยู่กลางป่าหรือในป่าช้า หากทำการเผากลางวันซึ่งอาจมีลมทำให้มีการพัดพาเอากลิ่นของศพลอยไปรบกวนผู้ทีอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ จึงทำการเผาจริงในช่วงกลางดึกตั้งแต่สี่ทุ่มเป็นต้นไป

 

เมรุหลวง วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

แต่ในปัจจุบันมีการสร้างเมรุที่เป็นแบบก่ออิฐถือปูนที่มีช่องสำหรับทำการเผาศพโดยเฉพาะ และมีปล่องสำหรับปล่อยควัน ที่ความสูงอยู่ในระดับที่กลิ่นจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อยู่ใกล้เคียงได้

 

จึงทำการเผาจริงหลังจากแขกที่มาร่วมงานทำการวางดอกไม้จันทน์หมดแล้วทันทีหรือรอให้ถึงช่วงกลางคืนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติและครอบครัวของผู้ตาย

เพราะในธรรมเนียมปฏิบัติมิได้กำหนดว่าจะต้องทำการเผาจริงในช่วงกลางคืนเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าภาพ

 

ขั้นตอนพิธีการเผาหลอก เผาจริง

สำหรับงานฌาปนกิจศพในอดีตเมื่อทำพิธีทางสงฆ์เรียบร้อยแล้ว จะทำการวางดอกไม้จันทน์และจุดไฟเพื่อการเผาศพไปพร้อมกัน

แต่งานธรรมเนียมใหม่ที่มีขั้นตอนการเผาหลอก เผาจริง จะมีการจัดขึ้นในวันฌาปนกิจตามที่ได้กำหนดไว้ โดยขั้นตอนพิธีในวันฌาปนกิจและการเผาหลอก เผาจริงมีดังนี้

 

1. การบำเพ็ญกุศลหน้าศพ

วันฌาปนกิจ เจ้าภาพจะมีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลหน้าศพผู้ตายให้กับผู้ตายก่อนที่จะทำการเคลื่อนศพไปยังเมรุ โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.1 การทำเลี้ยงภัตตาหารเพลพระสงฆ์ เพื่ออุทิศกุศลให้กับดวงวิญญาณของผู้ตาย

1.2 พระสงฆ์ทำการเทศนาธรรม 1 กัณฑ์ เพื่อให้ดวงวิญญาณและผู้ที่มาร่วมงานได้สดับฟังธรรม ซึ่งพระธรรมที่นำมาเทศนาในงานจะขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพ ซึ่งส่วนมากจะเน้นไปในทางการทำความดีและการรักษาความดี สัจจะธรรมของชีวิตที่ว่าทุกคนเมื่อเกิดย่อมจะต้องมีดับ เพื่อเป็นการเตือนสติผู้ที่ยังอยู่ และเป็นการบอกไปยังดวงวิญญาณของผู้ตายให้ทำการปล่อยวางและไปสู่โลกหน้าอย่างสงบ ไม่ยึดติดกับตัวตนเดิม

1.3 พระสงฆ์ทำการสวดมาติกา-บังสุกุล โดยการโยงสายสิญจน์จากโลงศพมายังที่วางผ้าบังสุกุล ซึ่งการทอดผ้าบังสุกุลนี้ สามารถทำก่อนที่มีการเคลื่อนย้ายศพไปยังเมรุ หรือจะทำการทอดหลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายศพไปยังเมรุแล้วก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพ

1.4 เจ้าภาพทำการถวายเครื่องไทยธรรมที่จัดเตรียมไว้ตามสมควรแก่ฐานะ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม ของไหว้วันเผา

ของไหว้วันเผา

 

2. การเคลื่อนศพไปสู่เมรุ

หลังจากที่ทำพิธีการบำเพ็ญกุศลศพที่หน้าศพเสร็จแล้ว จะถึงขั้นตอนการเคลื่อนย้ายศพไปยังเมรุ ซึ่งก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายศพนั้น ญาติพี่น้องที่มีอายุน้อยกว่าผู้ตายและลูกหลานที่ใกล้ชิดมาทำพิธีการขอขมาผู้ตายก่อน โดยทำการกล่าวขอขมาที่เคยได้ล่วงเกินไม่ว่าทางกาย วาจาและความคิด ด้วยคำกล่าวที่ว่า  “กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง อะโหสิกัมมัง โหตุ“  เมื่อขอขมาศพเสร็จแล้วให้ทำการเคลื่อนศพไปยังเมรุ

โดยลำดับการเดินในการขบวนเคลื่อนศพมีดังนี้

ลำดับที่ 1 : พระสงฆ์

ลำดับที่ 2 : กระถางธูป

ลำดับที่ 3 : รูปภาพของผู้ตาย

ลำดับที่ 4 : ศพของผู้ตาย การเคลื่อนศพผู้ตายสามารถทำได้โดยการใช้ราชรถเชิญศพเป็นที่วางโลงศพ หรือจะใช้คนช่วยกันแบกโลงศพและเดินแห่ไปยังเมรุก็ได้

ลำดับที่ 5 : ญาติและแขกที่มาร่วมงาน

โดยการเดินจะมีการถือสายสิญจน์ที่โยงมาจากพระสงฆ์ที่เดินนำขบวน ในการเดินไม่ควรดึงสายสิญจน์ตึง เพราะจะทำให้สายสิญจน์ขาดได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นมงคล

 

3. พิธีแห่ศพเวียนเมรุ

เมื่อเคลื่อนศพมาถึงด้านหน้าของเมรุให้ทำการเวียนรอบเมรุจำนวน 3 รอบ  การเวียนจะต้องทำการเวียนจากขวามือไปทางด้านซ้ายของเมรุ 

โดยหันหน้าเข้าหาเมรุจะเริ่มต้นเดินเวียนไปทางซ้ายมือของบันไดหน้าเมรุ เมื่อเวียนครบ 3 รอบให้นำศพขึ้นตั้งบนเมรุ เพื่อประกอบพิธีการทอดผ้าบังสุกุล

 

เมรุ วัดเทพศิรินทร์

 

4. การเผาหลอก

การเผาหลอกจะเริ่มต้นหลังจากที่ทำการบังสุกุลศพเสร็จ หรือหลังจากที่นำศพขึ้นมาบนเมรุสำหรับงานพิธีที่ไม่มีการทอดผ้าบังสุกุลที่หน้าเมรุ และทางเจ้าภาพเรียนเชิญแขกผู้มีเกียรติทำการวางดอกไม้จันทน์ เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยและเคารพผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งในขั้นตอนพิธีนี้อาจจะมีการจุดไฟที่ดอกไม้จันทน์ได้ แต่จะไม่มีการเปิดโลงศพผู้ตายเพื่อให้ไฟทำการไหม้ศพที่อยู่ภายในโลง และ หลังจากที่ทำการวางดอกไม้จันทน์เสร็จแล้ว ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการเผาหลอก 

 

5. การเผาจริง

 การเผาจริงจะจัดขึ้นหลังจากที่แขกผู้มีเกียรติทำการวางดอกไม้จันทน์ในพิธีการเผาหลอกเสร็จสิ้น 

ซึ่งในอดีตที่ทำการเผาศพบนเมรุลอยหรือเมรุชั่วคราวกลางป่าจะทำการเผาจริงในช่วงกลางคืนช่วงประมาณสี่ทุ่มขึ้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเข้านอนและอยู่แต่ในบ้าน ดังนั้นกลิ่นและควันไฟที่เกิดขึ้นจากการเผาศพจะไม่ไปรบกวนคนที่อยู่ใกล้เคียง โดยจะมีเพียงแต่ญาติสนิท คนในครอบครัว สัปเหร่อและพระสงฆ์ที่ทำการสวดในการฌาปนกิจเท่านั้นที่มาร่วมงาน

 

แต่ในปัจจุบันมีการสร้างเมรุที่เป็นแบบถาวรที่มีการผนังมิดชิด ทำให้แขกที่มาร่วมงานไม่เห็นสภาพศพและได้กลิ่นศพในขณะที่ทำการเผาเกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีการเผาจริงหลังจากที่ทำการเผาหลอกในทันที หลังจากที่ทำการวางดอกไม้จันทน์ในการเผาหลอกเสร็จสิ้นแล้ว

 

งานศพจำเป็นต้องมีการเผาหลอก เผาจริงหรือไม่

การเผาหลอก เผาจริง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาในช่วงปลายของสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการลดความเดือดร้อนของผู้ที่อยู่ในงานและพื้นที่ใกล้กับการจัดการเผาศพ จะได้ไม่ต้องได้กลิ่นเหม็นและควันไฟที่เกิดมาจากศพ

ทว่าในปัจจุบันนี้เมรุที่ใช้ในการเผาศพมีการสร้างให้มีผนังปิดรอบด้าน เมื่อทำการเผาศพแล้วจึงไม่มีกลิ่นและควันเข้ามารบกวนแขกที่อยู่ในงาน แต่ทำไมจึงยังต้องมีการเผาหลอก เผาจริงอยู่อีก ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

 

1. ให้เกียรติผู้ตาย

การปฏิบัติเผาหลอก เผาจริงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เริ่มปฏิบัติกันในชนชั้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติสนิทหรือคนในครอบครัวได้เห็นศพของผู้ตายที่เกิดการเน่า ซึ่งมีลักษณะที่ไม่น่าดู ดังนั้นเป็นการทำให้แขกหรือคนรู้จักยังคงมี ภาพที่งดงามของผู้ตายอยู่ในความทรงจำ  และยังเป็นการให้เกียรติกับผู้ตายอีกด้วย

 

2. รักษาธรรมเนียมปฏิบัติ

การเผาหลอก เผาจริงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และยังใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 ยังนำธรรมเนียมเผาหลอก เผาจริงมาปฏิบัติด้วย ดังนั้น การมีขั้นตอนเผาหลอก เผาจริงในงานศพจึงเป็นการรักษาธรรมเนียมประเพณีของไทย ด้วย

 

3. เพื่อความปลอดภัย

ปัจจุบันนี้การเผาศพมีการสร้างระบบเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนสูงในการเผาศพ ดังนั้นหากมีการเผาจริงโดยการให้แขกใส่ดอกไม้จันทน์ลงไปในเตาเผาที่มีการจุดติดไฟอยู่ ความร้อนที่อยู่ในเตาอาจสร้างอันตรายต่อแขกได้ โดยเฉพาะการเผาศพที่ใช้ไฟความแรงสูงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ที่นิยมใช้ในเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ดังนั้นการเผาหลอกจึงเป็นการ รักษาความปลอดภัยของแขกที่มาร่วมงานให้ไม่ต้องได้รับอันตรายจากความร้อน  นั่นเอง

 

4. ประหยัดเวลาการจัดงาน

ขั้นตอนการเผาจริงจะมีขั้นตอนในการดำเนินการที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นหากมีการเผาจริงในช่วงเวลาดังกล่าว แขกอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการร่วมงานที่นานมาก ซึ่งบางคนอาจไม่สะดวกทั้งด้านการเดินทางและภารกิจที่ต้องไปกระทำต่อ แต่หากพิธีฌาปนกิจที่มีแขกร่วมในพิธีทำเพียงแต่ การเผาหลอก จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่นาน  ทำให้แขกสามารถเดินทางกลับได้อย่างรวดเร็ว

 

จะเห็นว่าการเผาหลอก เผาจริง ถึงแม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สร้างขึ้นในสมัยอดีต แต่ว่าเมื่อนำมาใช้ในปัจจุบันก็ยังมีประโยชน์ต่อทั้งเจ้าภาพและแขกผู้มีเกียรติด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้ากับยุคสมัย

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

 
 
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
Product added!
The product is already in the wishlist!
Removed from Wishlist

The product has been added to your cart.

Continue shopping View Cart