ทุ่งพระเมรุ – สนามหลวง หรือที่โบราณเรียกว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ เป็นสถานที่ซึ่งใช้ประกอบราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แม้จะผ่านการบูรณะและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มากมายในหลายศตวรรษที่ล่วงมา แต่สนามหลวงก็ยังเป็นสถานที่ซึ่งยึดโยงกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง
ซึ่งในบทความนี้ เราจะพาคุณมาสำรวจประวัติน่ารู้เกี่ยวกับสนามหลวง ทุ่งพระเมรุ ประวัติ ที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานหลายร้อยปี
ของชำร่วย งานฌาปนกิจ ของชําร่วยงานพระราชทานเพลิง ราคาส่ง ราคาถูก
ยาวไป เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ
ทุ่งพระเมรุ ประวัติ
ทุ่งพระสุเมรุในยุคอยุธยา – ต้นแบบของสนามหลวงต้องสืบย้อนไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการสร้าง ‘สนามใหญ่’ ไว้สำหรับประกอบราชพิธีสำคัญ อย่างประเพณี เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ หรือประเพณีสงกรานต์ในปัจจุบัน
หรือกล่าวได้ว่า การสร้างสนามใหญ่ก็เป็นไปเพื่อรองรับการจัดราชพิธีสำคัญของราชสำนักในแต่ละยุคสมัยนั่นเอง
การนำรูปแบบสนามใหญ่กลับมาเป็นแม่แบบของสนามหลวงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนให้ประจักษ์ถึงความพยายามฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมและประเพณีที่สูญหายไปหลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 หลังการกอบกู้บ้านเมืองคืนมาได้
บรมปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรจึงพยายามนำประเพณีอันดีงามของสยามในยุคเจริญรุ่งเรืองกลับคืนมาอีกครั้ง โดยมีสนามหลวงซึ่งสร้างขึ้นระหว่างพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นหนึ่งในการบูรณะทางวัฒนธรรมดังกล่าว
ทุ่งพระสุเมรุในยุครัตนโกสินทร์
สนามหลวง ซึ่งสร้างขึ้นโดยอิงกับสนามหน้าจักรวรรดิของกรุงศรีอยุธยานั้น มีประโยชน์ใช้สอยหลักเพื่อเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และเจ้านายพระราชวงศ์ชั้นสูง
จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ทุ่งพระเมรุ’ ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ มาจนถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9) เป็นพระองค์ล่าสุด เว้นเพียงแต่พระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ซึ่งทรงสละพระราชสมบัติแล้วเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ
ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์
ครั้นเมื่อปี 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า
“ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก https://www.posttoday.com/life/healthy/521318
แต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 นั้น ทุ่งพระเมรุในคราวที่มิได้มีการจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงนั้น ก็จะถูกปล่อยทิ้งร้าง
และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดให้ทุ่งพระเมรุเป็นสถานที่ในการทำนา
กระทั่งผลัดเปลี่ยนแผ่นดินมายังรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ครั้นมีการยกเลิกพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน พื้นที่ของสนามหลวงก็มีการขยายให้กว้างขึ้นและมีการออกแบบภูมิทัศน์ใหม่จนมีลักษณะเป็นรูปไข่ดังปรากฏในปัจจุบัน
ทุ่งพระเมรุ ภาษาอังกฤษ, สนามหลวง ภาษาอังกฤษ คือ Phra Men Ground
การใช้งานสนามหลวง
นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา สนามหลวงมิได้ถูกใช้เฉพาะในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงเพียงอย่างเดียว แต่มีการใช้สอยให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นสนามกอล์ฟสำหรับเจ้านายชั้นสูง สนามแข่งม้า ตลอดจนพื้นที่สำหรับการสวนสนาม ตลอดจนพื้นที่สำหรับการค้าขายหรือตลาดนัด เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งที่ดี ตั้งอยู่ใจกลางนคร ผู้คนสามารถเดินทางสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกสบาย
การใช้งานท้องสนามหลวงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของยุคสมัย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กระแสประชาธิปไตย และความเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้ทำให้สนามหลวงถูกใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงปาฐกถา การปราศรัยหาเสียง ตลอดจนการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา และจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้งหลายครา เนื่องจากมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้น สนามหลวงยังเป็นสถานที่สำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 อีกด้วย
สนามหลวงในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน สนามหลวงยังคงถูกใช้สำหรับเป็นสถานที่จัดงานราชพิธีและรัฐพิธีที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในงานพืชมงคลเป็นประจำทุกปี รวมทั้งงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี งานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 ตลอดจนงานพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป
นอกจากนั้น ปัจจุบันสนามหลวงยังไม่อนุญาตให้มีการจัดปราศรัยทางการเมืองหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ
ทำให้สถานภาพของสนามหลวงในปัจจุบัน เปรียบได้กับสมัยอยุธยาที่จำกัดการใช้งานไว้สำหรับงานพระราชพิธีที่สำคัญเท่านั้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูง ทำให้ชื่อของทุ่งพระเมรุยังคงดำรงอยู่คู่กับสนามหลวงแม้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าท้องสนามหลวงจะถูกจำกัดอยู่เฉพาะการใช้งานในราชพิธีเท่านั้น เพราะในปัจจุบันสนามหลวงได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงที่สามารถมาเดิน-วิ่งออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยานได้ตามอัธยาศัย
โดยเฉพาะการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ช่วยให้สนามหลวงดูมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ประชาชนสามารถใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
ตลอดจนเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเดินทางมาเช็คอิน เนื่องจากอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับไฮต์ไลท์ของกรุงเทพมหานครอย่างพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ความหมายของทุ่งพระเมรุจึงเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังหลงเหลือจุดประสงค์เดิมในการสร้างสรรค์ จึงกล่าวได้ว่าสนามหลวงเป็นหนึ่งในสถานที่ประวัติศาสตร์ ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยยังคงเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานหลายร้อยปีได้อย่างลงตัวนั่นเอง