วันพระ สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน หากกล่าวถึง วันพระ วันโกน แล้วย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี
ซึ่งวันพระ วันโกนนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับพระสงฆ์ เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ถึงแม้ วันโกนจะไม่มีระบุในปฏิทิน แต่เมื่อดูก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นวันไหน
ดังนั้น เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับความสำคัญของ วันโกน วันพระ วันธรรมสวนะ และข้อควรปฏิบัติในวันดังกล่าว
เพื่อความถูกต้อง และยังเป็นการเสริมบุญบารมีให้แก่ตนเองอีกด้วย
ยาวไป เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ
วันพระคือ
วันพระคือวันอะไร วันพระคืออะไร วันพระคือวันไหน – วันพระ คือ วันธรรมะสวนะ ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อนุญาตให้พระสงฆ์ในพุทธศาสนาสามารถทำการประชุม รวมตัวเพื่อสนทนาธรรม และเทศนาธรรมให้กับพุทธศาสนิกชนและคนทั่วไป
ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพระธรรมในพระพุทธศาสนา
วันธรรมะสวนะ มาจากคำว่า “สวนะ” แปลว่า การฟัง และคำว่า “ธรรมสวนะ” แปลว่า การฟังธรรม
วันฟังธรรม หรือที่เรียกทั่วไปว่า “วันพระ” โดยความหมายของวันพระ คือ การเรียกพระภิกษุที่มารวมตัวกันมากกว่า 4 รูป ขึ้นไป จัดเป็นหมู่คณะ
วันพระตามปฏิทินไทยจะตรงกับวันแรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ขึ้น 8 ค่ำ และ ขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนตามปฏิทินไทย
หากเดือนใดตรงกับเดือนขาด หรือเดือนที่มีเพียงแค่แรม 14 ค่ำหรือขึ้น 14 ค่ำ เดือนนั้น วันพระจะตรงกับแรม 14 ค่ำ และ ขึ้น 14 ค่ำแทน
วันพระ ภาษาอังกฤษ คือ Buddhist Holy Day
วันโกนคือ
วันโกนคืออะไร วันโกน คือวันอะไร – วันโกน คือ วันก่อนวันพระของทุกเดือนตามปฏิทินไทย ซึ่งตรงกับแรม 7 ค่ำ แรม 14 ค่ำ ขึ้น 7 ค่ำ และ ขึ้น 14 ค่ำของทุกเดือนตามปฏิทินไทย
หากเดือนใดตรงกับเดือนขาด หรือเดือนที่มีเพียงแค่แรม 14 ค่ำหรือขึ้น 14 ค่ำ เดือนนั้น วันโกนจะตรงกับแรม 13 ค่ำ และ ขึ้น 13 ค่ำแทน
การที่เรียกว่าวันโกน เพราะในวันนี้เป็นวันที่พระสงฆ์ทำการโกนผมบนศีรษะให้สะอาด เพื่อความเรียบร้อยในวันธรรมะสวนะ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่านี้ว่า “วันโกน” นั่นเอง
ประวัติวันพระ
ประวัติวันพระ ประวัติวันโกน – สมัยพุทธกาล หลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่เขาคิชกูฏ บริเวณใกล้กับเมืองราชคฤห์
พระเจ้าพิมพาสาร กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธในขณะนั้น ได้ขอเข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลถามเกี่ยวกับวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เนื่องจากในศาสนาอื่นนั้น บรรดานักบวช ผู้ถือศีลในศาสนาหรือนิกายอื่นจะมีวันที่มาร่วมตัวกันเพื่อประชุม ปรึกษาและสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาหรือนิกายของตน
แต่ทว่าในพระพุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีวันดังกล่าว
พระเจ้าพิมพาสาร กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธจึงเข้ามาสอบถามถึงวันนี้กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีวันในการประชุมสนทนาธรรมที่ชัดเจน
ในกาลนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้มีวันที่พระสงฆ์สามารถทำการประชุมสนทนาธรรมและแสดงธรรมเทศนา ให้แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาพระธรรมและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักคำสอน ให้เข้ามารวมตัวกันเพื่อรับฟังธรรมะและศึกษาพระธรรม
ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้เรียกวันดังกล่าวว่า “วันธรรมสวนะ” (วันฟังธรรม) หรือที่รู้จักกันว่า “วันพระ” ในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะทำการถือศีล ปฏิบัติธรรม ทำบุญ ฟังธรรม
วันธรรมสวนะ อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ
ต่อมาในสมัยสุโขทัย ได้มีการกำหนดวันหยุดของข้าราชบริพารที่ทำงานทุกคนให้หยุดงาน 2 วัน
คือ วันก่อนวันพระหรือที่เรียกว่า “วันโกน” และวันพระ
การที่หยุดวันโกนกับวันพระ ก็เพื่อให้ข้าราชบริพารที่นับถือพุทธศาสนาได้เตรียมตัว ถือศีลและรักษาความบริสุทธิ์ของกาย วาจา ใจ ก่อนที่จะไปทำบุญในวันพระนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าวันโกนเป็นวันที่ประตูของเทวภูมิ โลกภูมิ และนรกภูมิ เปิดเชื่อประสานกัน ทำให้ดวงวิญญาณสามารถเดินทางเชื่อมต่อทั้ง 3 ภพภูมิได้
โดยเฉพาะดวงวิญญาณในนรกภูมิจะเดินทางขึ้นมายังโลกมนุษย์เพื่อมารับส่วนบุญ ส่วนกุศลจากญาติ หรือพุทธศาสนิกชนที่ทำการอุทิศส่วนบุญให้ และยังมาฟังธรรมเทศนาเป็นการสร้างบุญให้ตนเองอีกด้วย
วันพระ สําคัญอย่างไร
วันพระ คือ วันธรรมสวนะ (วันฟังธรรม) หรือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เข้ามาประชุมสนทนาธรรมและเทศนาธรรมให้กับพุทธสาสนิกชนและคนทั่วไป ได้รับรู้และศึกษาในพระธรรม
ปัจจุบันวันโกน และ วันพระ ยังถือเป็นวันสำคัญของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนคนไทย ซึ่งความสำคัญของวันโกนและวันพระมีดังนี้
1. ความสำคัญทางเทวโลก
วันพระหรือวันธรรมะสวนะเป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จไปแสดงธรรมเทศนาให้กับเหล่าพรหม เทวดา นางฟ้าที่อยู่ในเทวโลก ซึ่งในวันนี้เหล่าเทพ พรหม เทวดาทั้งหลายจะรอรับเสด็จเพื่อฟังธรรมเทศนาที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และในวันนี้เพื่อเป็นการรักษาศีลความบริสุทธิ์เทพ พรหม เทวดาจะงดเว้นการเสพกามารมณ์ สิ่งบันเทิง รื่นเริงต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นการสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง นอกจากนั้นเทพ พรหม เทวดาบางองค์ยังได้ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกด้วยการช่วยเหลือและฟังธรรมจากเนื้อนาบุญในพระพุทธศาสนาร่วมกับมนุษย์ด้วย
2. ความสำคัญทางนรกโลก
วันพระยังถือเป็นวันหยุดการลงฑัณฑ์ต่อดวงวิญญาณที่อยู่ในนรกภูมิ และงดเว้นการตัดสินโทษต่าง ๆ กับดวงวิญญาณทั้งหลายอีกด้วย พร้อมทั้งยังเปิดประตูนรกภูมิที่เชื่อมต่อกับโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นการปลดปล่อยดวงวิญญาณออกจากนรกภูมิชั่วคราว เพื่อให้ดวงวิญญาณเหล่านี้เดินทางไปยังโลกมนุษย์เพื่อรับกุศลที่ญาติของตนได้ทำบุญอุทิศให้ สำหรับดวงวิญญาณที่ไม่สามารถขึ้นมารับส่วนบุญบนโลกมนุษย์ได้ เพราะติดกรรมหนักหรืออยู่ในรกภูมิชั้นที่ลึกมาก ๆ ก็ต้องรอรับส่วนบุญที่ญาติทำให้ผ่านการนำพาไปของพระแม่ธรณี พระแม่คงคาและเหล่าเทวดาที่ลงไปโปรดดวงวิญญาณในนรกภูมินั้น
3. ความสำคัญทางมนุษย์ภูมิ
สำหรับมนุษย์ภูมิความสำคัญของวันพระนั้น เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ทุกคนได้มีโอกาสรักษาศีลอุโบสถให้บริสุทธิ์ และในวันนี้ยังมีเทวดา พรหม เทพที่ลงมายังโลกมนุษย์มาช่วยเหลือและประทานพรให้กับผู้ที่กระทำความดี สร้างบุกุศล นอกจากการทำบุญอุทิศกุศลให้กับดวงวิญญาณของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นการสร้างกุศลให้กับตนเองอีกด้วย
จะเห็นว่าวันโกนและวันพระ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ดังนั้น ในวันนี้ผู้ที่เป็นพุทธสาสนิกชนทุกท่านช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่ง จึงควรทำจิตให้บริสุทธิ์ กระทำแต่ความดีเพื่อสร้างกุศลผลบุญให้กับตนเองและดวงวิญญาณทั้งหลายด้วย
กิจกรรมวันพระ
กิจกรรมในวันพระ กิจกรรมในวันโกน – วันโกนและวันพระ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งในวันโกนและวันพระมีกิจกรรมที่ควรกระทำดังนี้
1. กิจกรรมในวันโกน
วันโกน ถือเป็นวันเตรียมความพร้อมสำหรับพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่จะเข้าร่วมฟังธรรมเทศนา ทำบุญถวายภัตตาหารและอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยกิจกรรมในวันโกนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1.1 กิจกรรมสำหรับพระสงฆ์
กิจกรรมของพระสงฆ์ในวันโกนจะเป็นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในวันพระ กิจกรรมที่พระสงฆ์ต้องกระทำในวันโกน คือ การประกอบการปลงผม การสวดปาฏิโมกข์เพื่อชำระศีลและเตรียมธรรมเทศนาที่จะเทศให้พุทธศาสนิกชนฟังในวันพระ
1.2 กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน
กิจกรรมของพุทธศาสนิกชนที่กระทำในวันโกนเป็นการจัดเตรียมวัสดุสำหรับจัดทำเป็นภัตตาหารสำหรับไปถวายพระ เตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจ ทำการสมาทานศีลและรักษาศีล 5 เป็นการสร้างบุญกุศล
2. กิจกรรมในวันพระ
กิจกรรมในวันพระส่วนมากจะเป็นกิจกรรมที่กระทำร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ซึ่งกิจกรรมในวันพระแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำหรับพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ดังนี้
กิจกรรมสำหรับพระสงฆ์
สำหรับกิจกรรมที่เป็นของสงฆ์นั้น จัดเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์จะต้องกระทำอย่างเคร่งครัด
เพื่อเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาและทำความเข้าใจพระธรรมให้ท่องแท้มากยิ่งขึ้นจากพระเถระผู้รู้แจ้งในพระธรรม
ซึ่งกิจกรรมของพระสงฆ์มีด้วยกัน 2 ส่วนดังนี้
1. สวดพระปาฏิโมกข์
วันที่พระสงฆ์จะประชุมทบทวนศีล 227 สิกขาบท หรือที่เรียกว่า การประชุมฟังสวดพระปาฏิโมกข์ เพื่อให้ศีลที่รักษาอยู่มีความบริสุทธิ์อย่างครบถ้วนทุกประการตามหลักพระธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้
2. แสดงธรรมเทศนา
การแสดงธรรมเทศนาให้กับพุทธศาสนิกชนที่เข้ามาทำบุญได้รับฟัง เพราะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์อย่างหนึ่ง
ซึ่งในวันพระเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะมาร่วมตัวกันที่วัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารให้กับพระสงฆ์ เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ดังนั้น การแสดงธรรมเทศนาในวันพระ ย่อมมีผู้ที่ได้รับผลการธรรมะเทศนาเป็นจำนวนมาก
3. รับถวายภัตตาหาร
การรับประเคนภัตตาหารจากพุทธศาสนิกชนเป็นการสร้างบุญอันยิ่งใหญ่
ยิ่งพระสงฆ์อยู่ในศีล 227 สิกขาบทอย่างเคร่งครัดซึ่งถือเป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ผู้ที่ทำการถวายทานหรือทำบุญกับพระสงฆ์ ย่อมได้รับบุญอันยิ่งใหญ่ตามความบริสุทธิ์ของเนื้อนาบุญ
ซึ่งหลังจากรับประเคนและฉันอาหารแล้ว พระสงฆ์ทำการให้พรเพื่อเป็นสิริมงคลกับพุทธศาสนิกชนผู้ที่เข้าวัดทำบุญ
กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน
ในอดีตวันพระเป็นวันหยุดงานของข้าราชบริพารที่ทำงานราชการ เพื่อให้ข้าราชบริพารได้เข้าวัดทำบุญ
ซึ่งกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรในวันพระมีดังนี้
1. ทำทาน
การทำทานเป็นการสร้างบุญกุศลที่ดี ซึ่งการทำบุญก็ถือเป็นการทำทานอย่างหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อถึงวันพระควรจัดเตรียมภัตตาหารเพื่อให้ถวายพระสงฆ์ที่วัด เพราะพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา
ดังนั้น การถวายภัตตาหารกับพระสงฆ์จึงเป็นการทำบุญที่ได้รับบุญอันยิ่งใหญ่
นอกจากการทำทานกับพระสงฆ์แล้ว การทำทานกับผู้อื่น ก็ถือเป็นการสร้างกุศลได้เช่นกัน
2. รักษาศีล
การรักษาศีล ลด ละ เลิกให้ห่างไกลจากกิเลส
การรักษาศีลนอกจากทำให้จิตใจบริสุทธิ์แล้ว ยังทำให้มีสมาธิ ก่อเกิดสติปัญญาอีกด้วย ส่งผลให้ชีวิตมีความเจริญ
3. เจริญภาวนา
เมื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์แล้ว พุทธศาสนิกชนควรทำจิตเจริญภาวนาให้อยู่กับปัจจุบัน
เป็นการสร้างความสงบให้กับตนเอง พัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้า เห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิตและดำรงชีวิตตามความเป็นจริง
4. ฟังธรรม
การฟังธรรมเป็นการรับฟังบ่อเกิดแห่งปัญญา
พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยให้หลุดพ้นจากบ่วงกิเลส ความโลภและอบายมุขต่าง ๆ
ซึ่งในวันพระจะทำการแสดงธรรมะเทศนาให้พุทธศาสนิกชนได้ฟัง
ดังนั้น วันพระจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้รับฟังธรรมเทศนาอย่างจริงจัง และหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามได้
5. แสดงธรรม
นอกจากการฟังธรรมแล้ว พุทธศาสนิกชนยังสามารถแสดงธรรมให้กับผู้อื่น
ซึ่งการแสงดธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องให้พระสงฆ์เป็นผู้แสดงเท่านั้น เพราะการบอกเล่าถึงพระธรรมที่ได้รับฟังจากพระสงฆ์ให้กับผู้อื่นได้ฟัง ถือเป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อเข้าวัดฟังธรรมในวันพระมาแล้ว เมื่อออกจากวัดก็สามารถแสดงธรรมที่ได้รับฟังให้กับผู้อื่นได้ทันที
วันพระห้ามอะไรบ้าง
ข้อห้ามในวันโกนและวันพระ วันโกน ห้ามอะไรบ้าง – วันโกนและวันพระ เป็นวันที่พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนควรรักษาความบริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจาและใจ
ซึ่งในวันนี้มีข้อห้ามที่ไม่ควรกระทำดังนี้
1. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์
ในวันโกนและวันพระไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยากันก็ตาม โดยเฉพาะในวันพระที่ควรรักษาศีลและความบริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด
ควรละเว้นกิเลส โดยเฉพาะโลกีย์ที่สร้างความอยาก ความหลงมัวเมา
ดังนั้น ในวันโกนและวันพระ ควรละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อว่าวันโกนวันพระเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออก หากมีเพศสัมพันธ์ในวันนี้และเกิดการปฏิสนธิในครรภ์ ผีเปรตหรือดวงวิญญาณที่มาจากนรกภูมิอาจจะถือโอกาสเข้ามาจุติในครรภ์ได้ จึงไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กันนั่นเอง
2. ละเว้นการทำบาป
วันโกนและวันพระเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ สำหรับพุทธศาสนิกชนควรรักษาศีลสำหรับฆราวาสหรือศีล 5 ให้ได้
สำหรับพระสงฆ์ควรรักษาศีล 227สิกขาบท ไม่ควรทำบาป ไม่ว่าจะเป็นบาปทางกาย วาจาหรือใจ ล้วนควรละเว้นทั้งสิ้น
เป็นการสร้างบุญกุศลที่ง่ายและทำให้ชีวิตจิตใจมีความสุขสงบมากยิ่งขึ้น
งดเว้นการเบียดเบียน การว่าร้าย การคิดอกุศล การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะการละเมิดศีล 5 ข้อ ซึ่งเป็นศีลพื้นฐานที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรยึดถือและปฏิบัติ
3. งดเว้นการเดินทาง
ในอดีตในวันโกนและวันพระจะเป็นวันหยุดการทำงาน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญ
โดยเฉพาะในวันพระ พุทธศาสนิกชนทุกคน ควรงดเว้นการเดินทางไกล แต่ควรเดินทางเข้าวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ฟังธรรมเทศนา เจริญจิตภาวนาและสนทนาธรรมกับผู้อื่น
เพื่อเป็นการช่วยขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส และอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับดวงวิญญาณที่ล่วงลับทั้งหลาย
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ วันโกน และ วันพระ จะไม่ได้เป็นวันหยุดราชการหรือวันหยุดงานของหลายคน แต่ในหลายวัดได้มีการจัดให้มีการทำบุญ ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนาในวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งถือเป็นวันหยุดงานประจำสัปดาห์ของหลาย ๆ คน
ดังนั้น ในวันโกน วันพระ หากไม่สามารถเดินทางไปทำบุญ ฟังธรรมหรือเจริญภาวนาที่วัดได้ แต่ท่านสามารถรักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนาด้วยตนเองที่บ้านหรือที่ทำงานก็ได้เช่นกัน