
การฝังศพพร้อมกับภาชนะดินเผา และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ เป็นรูปแบบที่นักโบราณคดีได้ค้นพบว่ามีลักษณะร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์ หรือ เอเชียอาคเนย์) มาแต่โบราณกาล ซึ่งการฝังเครื่องมือเครื่องใช้พร้อมกับศพ เป็นรูปแบบพิธีกรรมปลงศพที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีความเกี่ยวพันกับชีวิตหลังความตายของผู้คนในภูมิภาคดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเราจะพาคุณไปหาคำตอบกันว่าเหตุใดจึงต้องมีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ไปพร้อมกับศพ และทำไมรูปแบบดังกล่าวจึงพบได้ทั่วไปในพื้นที่ภูมิภาคนี้ พิธีกรรมการฝังศพในยุคดึกดำบรรพ์ หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีการขุดพบข้าวของเครื่องใช้ และเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่ภายในบรรจุกระดูกของผู้วายชนม์ บ่งชี้ว่าพิธีกรรมการฝังศพ (Mortuary Practice) ในภูมิภาคนี้มีลักษณะร่วมกัน นั่นคือ มีรูปแบบการจัดการศพ จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การฝังศพครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการฝังร่างของผู้ล่วงลับลงไปในดินร่วมกับข้าวของเครื่องใช้หรือไม่ก็ได้ 2. การฝังศพครั้งที่ 2 เป็นการขุดร่างที่ฝังครั้งแรกขึ้นมา เพื่อเก็บกระดูกที่หลงเหลือจากการย่อยสลาย เพื่อนำไปบรรจุลงในภาชนะเครื่องปั้นดินเผา แล้วนำไปฝังดินอีกครั้ง และ 3. การจัดการศพแบบใหม่ ไม่พึ่งการฝังศพอีกต่อไป และพิธีกรรมดังกล่าวก็ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ เหลือไว้เพียงหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังถูกขุดพบเจอภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่บรรจุกระดูกคนตายอยู่เรื่อย ๆ ในปัจจุบัน