
การละเล่นที่เกิดจากงานศพ งานศพยุคแรกอุษาคเนย์ – สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านพ้นเข้ามาในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความสุข ความเศร้า ล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดงานศิลปะทั้งสิ้น โดยเฉพาะงานศพที่เป็นพิธีกรรมที่ทุกคนต้องเผชิญ จึงเป็นจารีตประเพณีที่ผสมผสานไว้ด้วยแง่มุมทางปรัชญา วัฒนธรรม ความเชื่อ และงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ที่สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อการอำลาและเคารพในผู้ล่วงลับออกมา ด้วยเหตุนี้ งานศพจึงเป็นบ่อเกิดของผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผลงานในด้านใดบ้าง เราจะพาคุณไปทำความรู้จักดังต่อไปนี้ งานศพกับงานสร้างสรรค์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานศพเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่ดำเนินมาตั้งแต่อารยธรรมของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้น โดยทุกอารยธรรมล้วนแล้วแต่มีพิธีกรรมจัดการศพที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อและจารีตของท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น งานศพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการละเล่นเป็นส่วนประกอบสำคัญมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น และได้รับการเผยแพร่เข้ามาในภูมิภาคเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน พิธีกรรมศพจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามอิทธิพลของศาสนาพรามหณ์ฮินดูที่เข้ามามีอิทธิพลในหมู่ชนชั้นนำที่นับถือศาสนาพุทธ ประจักษ์ได้ชัดจากพิธีศพที่เปลี่ยนจากการฝังดินตามความเชื่อของศาสนาผีที่ฝังรากลึกลงในวัฒนธรรมของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน มาเป็นการเผาศพตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่เข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนาจากอินเดีย ความเปลี่ยนทางความเชื่อที่เกิดขึ้นในพิธีศพก็สะท้อนออกมาผ่านงันเฮือนดีในงานศพแบบท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นิยมการละเล่นร้องรำทำเพลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพิธีเรียกขวัญ ส่งขวัญ เพื่อคลายความเศร้าโสกให้กับญาติสนิทมิตรสหายของผู้ล่วงลับ โดยมีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับงานศพมากมาย อาทิ พิธีสั่งเสีย เดินดง ชมดง หมอลำ หมอแคน ช่างขับ สวดคฤหัสถ์ (การสวดคฤหัสถ์ได้รับอิทธิพลจากการสวดพระในพิธีสวดศพ การสวดคฤหัสถ์คือการอยู่เป็นเพื่อนศพ) และลิเก